ดันครอบครัว-ชุมชนพร้อม
ร่วมดูแลผู้ป่วยสูงวัยติดเตียง
ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมผู้สูงอายุ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการฯเมื่อเร็ว ๆนี้ ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยสาระสำคัญในที่ประชุมให้น้ำหนักไปที่การดูและผู้สูงอายุในระยะเปลี่ยนผ่าน(intermediate care) หรือ IC และการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยของไทยที่จะมีผู้สูงอายุป่วยติดเตียงเนื่องจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เพิ่มขึ้นและการเตรียมพร้อมในการดูแลของครอบครัว
นพ.อุดม อัศวุตมางกูร ผู้อำนวยการสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุว่า แนวทางการทำงาน เพื่อวางเป้าหมายให้คนไทยมีสุขภาพดีทุกช่วงวัยไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ โดยเสนอหลักการ MOPH ย่อจากชื่อกระทรวงสาธารณสุข คือ MOPH ตัวที่ 1. Mastery คือบุคลากรมีภาวะผู้นำ 2.Originality คือ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ด้วยการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน 3.People Centered Approach ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ4.Humility บุคลากรในระบบสาธารณสุขต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งช่วยพัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมโดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน
ขณะที่ประเด็นเรื่อง การดูและผู้สูงอายุในระยะเปลี่ยนผ่าน(Intermediate care) หรือ IC นับว่าเป็นประเด็นที่ทางคณะอนุกรรมการฯ ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยมี ผู้แทน นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสาระสำคัญของเรื่องดังกล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามมาด้วยปัญหาโรคเรื้องรังต่างๆ ที่มาพร้อมกับความแก่ชราของประชากร หลายโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดพบกับการเพิ่มจำนวนขึ้นของจำนวนผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง จากโรคเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคปอดบวม (Pneumonia) โรคหลอดเลือดในสมองตีบ(Stroke) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องส่งผู้ป่วยกลับบ้านไปอยู่ในความดูแลของครอบครัวและชุมชน หลายครอบครัวไม่มีความพร้อมในการเตรียมเพื่อรับผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในความดูแล ผู้สูงอายุหลายคนที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงเมื่อกลับมาพักฟื้นที่บ้านจึงไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ถูกที่ควร
ดังนั้น IC จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจะเน้นไปที่การให้ความรู้กับญาติของผู้ป่วยติดเตียงถึงวิธีการที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงเพื่อนบ้าน ชุมชน ให้คอยเป็นหูเป็นตาดูแลผู้ป่วยร่วมกับญาติ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อครอบครัวและชุมชนมีความพร้อมที่จะรับผู้ป่วยมาดูแลก็จะทำให้การดูแลผู้ป่วยติดเตียงไม่เป็นภาระของครอบครัวอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อชุมชนมีส่วนในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตามแม้การใช้ IC จะเป็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องให้ครอบครัวเข้ามารับช่วงต่อจากโรงพยาบาลได้อย่างดี แต่ก็ยังมีความท้าท้ายอยู่มากจากหลายปัจจัยด้วยกัน อาทิ เรื่องความเฉพาะของพื้นที่ ซึ่งการจัดระบบ IC นั้นต้องเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มากที่สุด รวมถึงการลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน เพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างแพทย์ โรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งจะสามารถวัดประสิทธิผลและความคุ้มค่าได้จาก การลดระยะเวลาการครองเตียงในโรงพยาบาลของผู้ป่วย ซึ่งหมายถึงโรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้ไปอยู่ในความดูแลของญาติที่มีความพร้อมได้
ขอบคุณภาพประกอบจาก-www.youtube.com