วช.หนุนนำวิจัยใช้ประโยชน์
“จัดการทรัพยากรปูม้ายั่งยืน”
อาชีพที่สร้างรายได้แก่ชาวประมงอีกอย่างได้แก่ การจับ “ปูม้า” ขาย ชาวประมงบริเวณอ่าวบ้านเพ จ.ระยอง ส่วนหนึ่งประกอบอาชีพนี้ แต่ปัจจุบันปูม้าร่อยหรอลงไปมาก จับได้น้อยลงและมีตัวเล็กลง “วช.” หน่วยงานสนับสนุนด้านวิจัยของประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องดูแล จึงสนับสนุนทุนต่อยอดงานวิจัยโครงการ “การจัดการทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืนบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น” ของอาจารย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตและคณะ เพื่อถ่ายทอดแนวทางบริหารจัดการปูม้าในท้องถิ่น สร้างพลังเครือข่ายประมงที่เข้มแข็ง นำสู่การฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้และเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่เป็นฐาน รากสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ สอดพ้องกับแนวพระราชดำริของ รัชกาลที่ 9 และนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการ “ การจัดการทรัพยากร ปูม้าอย่างยั่งยืนบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตะวันออก จังหวัดระยอง โดยกล่าวว่า ปูม้าเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันปูม้าในธรรมชาติมีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก ผลจากการนำปูม้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้ปูม้ามีขนาดเฉลี่ยเล็กลงเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทำประมงปูในอนาคต ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งถูกทำลายจากการกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วในปี 2556 อีกทั้งมีการใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำและปูขนาดเล็กถูกจับจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงธุรกิจการทำประมงปูเพื่อการส่งออกและแปรรูปมีการเติบโตมากขึ้นทำให้ชาวประมงต้องออกเรือไปไกล แต่ได้ปูขนาดเล็กลงและมีรายได้ลดลง
ทางวช.ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงสนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย ภายใต้โครงการการจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2559 ให้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตและคณะ เพื่อถ่ายทอดผลการวิจัยแนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้าบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นไปสู่หน่วยงานในพื้นที่และชุมชนประมงเรือเล็ก บริเวณอ่าวเพ จังหวัดระยองและเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการทรัพยากรปูม้าของจังหวัดระยอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดของจังหวัดระยองในปี 2556 สร้างเสียหายเป็นวงกว้าง จึงมีความสนใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า นอกจากเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและชายฝั่งแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพหรือไม่ จึงมาดูผลกระทบในพื้นที่กับเพื่อน ๆ ว่าพื้นที่ไหนบ้างที่ได้รับผลกระทบและมีประมงกลุ่มไหนบ้างที่จะมาร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา
หลังจากนั้นได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “แนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้า โดยชุมชนประมงเรือเล็กบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีศึกษา : อ่าวเพ จังหวัดระยอง” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) งบประมาณ 600,000 บาท ระยะเวลาวิจัย 1 ปี ระหว่างตุลาคม 2555-กันยายน 2556 โดยสัมภาษณ์กลุ่มประมงเรือเล็ก ซึ่งทางสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) ช่วยแนะนำให้ 4 กลุ่ม
ผลการศึกษาพบว่า ระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2556และ2557 ผู้แทนกลุ่มประมงเปิดเผยว่า ปูม้ามีจำนวนน้อยลง โดยในปี 2556 จับได้ 7-8 กิโลกรัมต่อวัน ในปี 2557 จับได้ 3-4 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม 2556 และ 2557 พบว่า ปี 2556 จับได้ 20-30 กิโลกรัมต่อวัน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557จับได้เพียง 3-4 กิโลกรัมต่อวัน ได้ภาพรวมได้ว่า ทรัพยากรปูม้าในทะเลในบริเวณอ่าวบ้านเพ มีแนวโน้มลดลง
ต่อมาทางวช.ได้สนับสนุนทุนทำการศึกษาในระยะที่ 2 เพื่อศึกษาต่อเนื่อง วัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้สู่หน่วยงานในพื้นที่และกลุ่มประมง ซึ่งเป็นการนำผลการวิจัยสู่ภาคปฏิบัติ ในโครงการ “การจัดการทรัพยากรปูม้าอย่างยั่งยืน บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น บริเวณอ่าวบ้านเพ จังหวัดระยอง” ด้วยงบประมาณ 430,000 บาท ในปี 2559 ระยะเวลา 8 เดือน โดยมีเพียง 3 กลุ่มประมงเล็กเข้าร่วมด้วย ได้แก่ กลุ่มประมงเรือเล็กคอกแหลมเทียน กลุ่มประมงศาลาเขียวและกลุ่มประมงเรือเล็กสวนสน พร้อมความร่วมมือจากกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลบ้านเพ ประมงจังหวัด ประมงอำเภอเมืองระยอง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์กล่าวว่า การวิจัยระยะที่ 2 เป็นการจัดการบนฐานภูมิปัญญาจากพี่ ๆ กลุ่มประมงทั้ง 3 กลุ่ม ผลการวิจัยประสบความสำเร็จ พบว่า ทำให้เกิดปูม้าเพิ่มขึ้น ในพื้นที่อ่าวเพ ทำให้เกิดรูปแบบการอนุรักษ์ปูม้า 3 รูปแบบคือ การสลัดไข่ปูในกระชังบริเวณชายฝั่ง การสลัดไข่ปูบนชายฝั่งและการสลัดไข่ปูตามธรรมชาติในกระชังลอยในทะเล ขณะเดียวกันยังส่งผลให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ปูม้าและการจัดการธนาคารปูม้า เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบและกิจกรรมสลัดไข่ปูและการจัดการธนาคารปูม้า มีการติดตามและจัดการพื้นที่ไข่ การกำหนดพื้นที่ไข่แดงหรือพื้นที่ปลอดการทำประมง อีกทั้งเกิดเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์ปูม้าระหว่างกลุ่มประมง
ที่สำคัญคือ เกิดการเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรการอนุรักษ์ปูม้าแบบประชารัฐขึ้น หลังจากนั้นได้สรุปรวมองค์ความรู้ทั้งหมดทำเป็นคู่มือสำหรับเผยแพร่ เพื่อขยายผลนำโมเดลการวิจัยเชิงพื้นที่นี้ให้กลุ่มประมงในพื้นที่อื่นของจังหวัดระยองนำไปใช้ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆหรือนำไปปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ได้ โดยเผยแพร่ไปในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ ยังเปิดเผยด้วยว่า เตรียมทำโครงการวิจัยระยะที่ 3 ต่อซึ่งในขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณส่วนกลางประจำปี 2560 สนับสนุนแล้วผ่านมาทางมหาวิทยาลัย มูลค่า 500,000 บาท ซึ่งจะทำงานต่อจากโครงการระยะที่2 ให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาวประมงอย่างเหนียวแน่นเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายประชารัฐมากขึ้นและมีการร่วมมือจากภาครัฐมากขึ้น เช่น การกั้นแนวเขตปลอดการประมง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ทางกลุ่มประมงเรือเล็กทำ โดยทำให้มีเขตแนวที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาการลักลอบจับปูโดยคนนอก ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตให้กับปูม้า โดยใช้เวลาศึกษา 1 ปี
ทั้งนี้คุณสมพร พันธุมาศ หัวหน้ากลุ่มประมงเรือเล็กสวนสน(ที่2จากขวา)เปิดเผยว่า “ทางกลุ่มสวนสนรับผิดชอบปล่อยแม่ปูสลัดไข่ในกระชังลอยในทะเล ซึ่งแต่ละกระชังปล่อยแม่ปู 40-50 ตัว ตั้งเป้าปล่อย 1,000 ตัว จะได้ลูกปูประมาณ 1,000×400,000 ตัว โครงการนี้จึงเป็นอะไรที่มากกว่าคำว่า “ที่สุด” หากทำอย่างต่อเนื่่องจะช่วยฟื้นฟูปริมาณปูได้ราว 60-70% ของธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ชาวประมงจับปูเลี้ยงชีพได้ประมาณ 10-15 กิโลกรัมต่อวันไปได้ตลอด เพราะมีการทดแทนปูม้าใหม่แทนปูที่ถูกจับไปอย่างต่อเนื่อง จึงเชิญชวนทุกคน รวมถึงเพื่อนชาวประมงให้ช่วยกันทำ ช่วยกันดูแล ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมกันทำ คิดว่า เป็นการทำความดีเพื่อพ่อ”
สำหรับราคาปูม้า ขึ้นอยู่กับขนาด เริ่มที่ 200-450 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้แก่ชาวประมงประมาณ 500-2,000 บาทต่อวัน
มองอนาคตโครงการนี้จะทำให้ชีวิตของชาวประมงค่อนข้างสดใสและคงจะดีไม่น้อยหากมีการขยายผล ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การทำประมงปูอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง