ส.วิชาชีพกำจัดแมลงโชว์วิจัย
“ระบบท่อป้องกัน-กำจัดปลวก”
สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงผนึกทีมงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พัฒนา ““ระบบท่อป้องกันและกำจัดปลวก” งานวิจัยชิ้นแรกของสมาคมฯและครั้งแรกของประเทศไทย มีประสิทธิภาพกำจัดปลวกได้ผล90% หวังสร้างมาตรฐานวิชาชีพบริการกำจัดแมลง สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้รับบริการติดตั้งระบบที่มีเอกสารวิชาการรองรับ เป็นการสร้างธุรกิจจากฐานการวิจัยสอดพ้องนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0ของภาครัฐ เปิดโอกาสก้าวสู่ธุรกิจบริการป้องกัน กำจัดปลวกและแมลงในประเทศไทยและ AEC ที่มีศักยภาพ
นายสุทิยา ศิริเจริญ นายกสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง เปิดตัวผลงานวิจัย “ระบบท่อป้องกันและกำจัดปลวก” ซึ่งสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนวิจัยพัฒนาขึ้น โดยมี รศ.ชวลิต กิตติชัยการ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โครงงานวิจัยและขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตรผลงาน
นายสุทิยา กล่าวว่า สมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงก่อตั้งมาเป็นปีที่ 5 ประกอบด้วยสมาชิกที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกำจัดแมลง วิศวกร บริษัทธุรกิจจำหน่ายเคมีและบริษัทกำจัดแมลงรวม 35 รายจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ถูกต้อง ตรวจสอบได้ แต่ในภาพรวมปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการรับกำจัดแมลงประมาณ 4,000 บริษัทบริการกำจัดแมลง ปลวกตามที่บ้านพักอาศัย อาคารต่าง ๆ แต่วิชาชีพกำจัดแมลงนี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ โดยเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีองค์กรรวบรวมด้านวิชาการ ขณะที่ระบบการกำจัดแมลงและปลวกมีหลากหลาย อาทิ การราดน้ำยา การวางท่อใต้ดินและอื่น ๆ แต่ไม่มีมาตรฐานและไม่มีเอกสารรับรอง
จากเหตุดังกล่าวทางสมาคมฯจึงร่วมกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนรวบรวมและทำงานวิจัยเพื่อเป็นมาตรฐาน ถือเป็นการวิจัยระบบท่อป้องกันและกำจัดปลวกชิ้นแรกของสมาคมฯและครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัย 2 ปีเริ่มในช่วงต้นปี 2558 และเพิ่งแล้วเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา และในโอกาสที่มีการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลง ในวันนี้ จึงนำผลงานวิจัยมาเปิดเผยด้วย
นายสุทิยากล่าวต่อว่า สำหรับงานวิจัย “ระบบท่อป้องกันและกำจัดปลวก” มีการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการอัดเคมีกำจัดปลวกไว้ใต้พื้นบ้านให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ 100% สเปรย์น้ำยาได้ทั่วถึงในจุดที่ปลวกขึ้นได้ง่าย ประกอบด้วย ท่อส่งยา หัวฉีดปลายทาง พร้อมโปรแกรมช่วยวางระบบท่อ ที่มีการคำนวณแรงดัน แรงฉีดตามความเหมาะสมของบ้านหรืออาคารแต่ละแห่ง ส่วนท่อที่ใช้เป็นท่อ PVC เป็นมาตรฐานกลางและมีราคาไม่แพงและมีอายุงานใกล้เคียงกับอายุของบ้านหรืออาคารราว 30-40 ปี โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลวกได้ผลสูงถึง 90% และบริษัทสมาชิกที่ผ่านการอบรมแล้วจะเป็นผู้บริการติดตั้งระบบให้กับลูกค้า ผู้บริโภคทั่วไป
ทั้งนี้การนำระบบที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาใช้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รวมทั้งการมีเอกสารรับรอง ซึ่งทางสมาคมฯจะยื่นขอการรับรองมาตรฐานผ่านหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยคาดว่า ระบบท่อฯที่พัฒนาใหม่จะสามารถนำมาใช้บริการผู้บริโภคได้ราวไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 นี้
“การมีเอกสารรับรองยังจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาชีพกำจัดแมลงและปลวกที่มีเอกสารทางวิชาการรองรับด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันภาพรวมของธุรกิจกำจัดแมลงและปลวกถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างสูง โดยจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ พรโชคชัย พบว่า ระบบวางท่อเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ผู้บริโภค นิยมนำไปใช้ในบ้าน ระหว่างก่อสร้าง บ้านสร้างเอง อาคารโรงงาน ต่างๆ บ้านเดียวทั้งโครงการและสร้างเอง ดังในปี 2559 มียอด 110,577 หน่วย เฉพาะบ้านเดียว 12,455 หน่วย หรือ บ้านหรืออาคารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 4 ล้านหน่วย มี 1 ใน 4 หรือราว 1 ล้านหน่วยที่ใช้บริการกำจัดแมลงและปลวก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ 7,000-10,000 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้โครงการบ้านของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำต่าง ๆ รวมถึงโครงการของสมาชิกสมาคมรับสร้างบ้านมีการใช้ระบบท่อราว 90% โดยในอนาคตจะร่วมมมือกับภาครัฐผลักดันวิชาชีพกำจัดปลวกเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับต่อไป”
ในโอกาสเดียวกันทางสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงได้เชิญวิทยากรด้านเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง นักวิชาการและผู้ประกอบการมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์และมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพของธุรกิจบริการป้องกัน กำจัดปลวกและแมลงในประเทศไทยและ AEC และแลกเปลี่ยนมุมมองของการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลไปสู่สังคมดิจิตอลและโมเดลการพัฒนาประเทศ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วย ภายใต้หัวข้อเรื่อง “วิกฤติหรือโอกาสของธุรกิจบริการกำจัดปลวกและแมลง กับนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแลนด์และโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ Thailand 4.0
นายสุทิยากล่าวว่า ในตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทุกประเทศส่งเสริมการแก้ปัญหากำจัดแมลงและปลวก แต่ความจริงแล้วถือเป็นปัญหาระดับโลก เพราะแมลงเป็นที่มาของปัญหาสุขภาพหลายอย่าง หากสามารถควบคุมได้ จะทำให้งบประมาณด้านสุขภาพลดลงไป ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของวิชาชีพนี้ โดยต่อไปทางสมาคมวิชาชีพกำจัดแมลงจะร่วมมือกับสมาคมและผู้ประกอบการในAEC โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม