“ต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ”
ผลงานวิจัยระบบรางฝีมือคนไทย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) หน่วยสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ส่งมอบผลงานวิจัย “การพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ (ระยะที่ 1)” พัฒนาโดยนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะให้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่งาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 (RISE 3) ณ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯ เป็นระบบช่วยตรวจพบปัญหาการสึกกร่อนของรางได้ก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการซ่อมบำรุงหรือก่อนเกิดความเสียหาย เผยคอบช.อัดงบวิจัย 20 ล้านบาทต่อปี 3 ปีติดต่อกัน วิจัยระบบรางคิดเป็น 0.2%ของงบกลางในการก่อสร้างและลงทุนทั้งหมด หรือราว 1,000ล้านบาท
8 หน่วยงาน นำโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย และ Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่นร่วมกันจัด การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 (RISE 3) หัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย : ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย” หรือ “The Third Thai Rail Industry Symposium and Exhibition 2017 (The 3rd RISE 2017)” ระหว่างวันที่ 9 – 10 มีนาคม พ.ศ. 2560
ดร.สืบสกุล พิภพมงคล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ผลงาน “การพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ (ระยะที่ 1)” เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของรางรถไฟ ทำให้ตรวจพบปัญหาการสึกกร่อนของรางได้ก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการซ่อมบำรุง ก่อนที่เกิดความเสียหายตามมา ทำให้ต้องปิดระบบก่อนเพื่อซ่อมใหญ่ ทั้งนี้ระบบประกอบด้วย เลเซอร์ ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ข้อมูลผ่านดาวเทียมและระบบวิเคราะห์ประเมินผล แม้เวลานี้ยังต้องนำเข้าเลเซอร์จากญี่ปุ่นอยู่ก็ตาม แต่เราพัฒนาระบบเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งทำงานร่วมกับระบบดาวเทียม GIS ในการใช้งานทำโดยติดตั้งไว้ใต้ท้องรถไฟเพื่อตรวจสอบรางในขณะที่รถกำลังวิ่งที่ความเร็วระดับ 80-100 กม.ต่อชั่วโมง โดยระบบจะสามารถตรวจพบการโก่ง บิด รอยแยกใหญ่ของรางรถไฟ การถ่างออก
ทั้งนี้โครงการวิจัยดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน ที่ผ่านมาทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถตรวจสอบได้ที่ความละเอียดระดับ 1 มิลลิเมตร เตรียมเริ่มทดสอบกับรถไฟจริงช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือ ใช้ติดหัวรถจักรเพื่อตรวจสอบรางรถไฟทั่วประเทศ โดยปัจจุบันงานนี้ใช้วิธีเดินเท้าตรวจสอบ
สำหรับโครงการพัฒนาในระยะที่ 2 จะพัฒนาให้ระบบสามารถตรวจหาตัวยึดราง หรือคลิปหรือหมุดยึดราง เพื่อดูว่า หมุดหลุดหายหรือยังอยู่ครบหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้ระบบทำงานได้ถึงขั้นตรวจสอบหมุดได้ภายในเวลารวมกัน 2 ปี
“การพัฒนาระบบตรวจสอบรางรถไฟได้เอง จะช่วยประหยัดงบประมาณให้กับประเทศได้ เพราะระบบของญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 10 ล้านบาท แต่หากเราพัฒนาเองจะมีค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 2 ล้านบาทเท่านั้น “
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)กล่าวว่า ระบบรางเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประเทศไทยกำลังมีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางอย่างมาก ทั้งนี้มีนโยบายว่า ในการพัฒนาจะพัฒนาต่อไปอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน จะต้องมีเทคโนโลยีของประเทศไทย การประชุมครั้งที่ 3 นี้มีความคืบหน้าโดยเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยของประเทศ (คอบช.)ให้ทุนวิจัยพัฒนาระบบตรวจสภาพทางรถไฟ
“ในอนาคตนั้นในการวิจัยนั้นได้ตั้งเป้าไว้ 2 เรื่อง คือ ให้มีเทคโนโลยีของไทยใส่เข้าไปในระบบรางและไทยเรียนรู้เทคโนโลยีของโลกเพื่อที่จะนำมาใช้ เทคโนโลยีที่เราพัฒนาตอนนี้เทียบได้กับเทคโนโลยีระดับโลก เราหวังว่า ประเทศไทยจะพัฒนาขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้เราใช้เทคโนโลยีระบบรางของต่างประเทศจำนวนมาก ในระยะต่อไปเราจะสามารถมีเทคโนโลยีของไทย
ขณะนี้มีเทคโนโลยีของไทยเข้าไปมากแล้วดังที่มีการแสดงจากภาครัฐและเอกชน เช่น ระบบสื่อสารระหว่างรถยนต์ การเปิดประตู จุดทับระหว่างทางรถไฟกับถนน ระบบวัดสัญญาณต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่า รถไฟแต่ละขบวนอยู่ตรงไหน โดยเฉพาะการที่เราต้องการให้รถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงขึ้น ระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องมีความแม่นยำขึ้น การประชุมในครั้งนี้เกี่ยวข้องกับทำอย่างไรที่จะให้มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามา ซึ่งคาดว่าไทยจะใช้เงินนับล้านล้านบาทภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
ระบบทางรางมีค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อกิโลเมตรถูกกว่ารถยนต์ ดังนั้นการใช้ระบบขนส่งทางรางจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเป็นการลดต้นทุนด้านระบบขนส่ง สิ่งที่อยากจะเห็นคือ ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรถูกลงเรื่อย ๆ และใช้โอกสนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อที่จะสามารถพัฒนาสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองได้และสามารถส่งออกเทคโนโลยีไปที่อื่นได้”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สิริฤกษ์ ยังเปิดเผยด้วยว่า สำหรับงบประมาณวิจัยในปัจจุบัน คอบช. ใช้งบประมาณ ปีละ 20 ล้านบาท โดยทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี และคงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนงบประมาณที่เหมาะสมในแง่ของเทคโนโลยีระบบรางคิดเป็น 0.2% ของงบประมาณกลางในการก่อสร้างและการลงทุนทั้งหมด คาดว่าจะมีงบที่เกี่ยวข้องประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท
ด้านการวิจัยต้นแบบเครื่องตรวจวัดสภาพราง ขณะนี้ใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 5 ล้านบาท คาดว่าประมาณ 2 เดือนได้ใช้