“เครื่องดูดควันไฟป่า” วิศวะมก.เลิศ
นวัตกรรมรับมือหมอกควัน ไฟป่า
ท่ามกลางปัญหาหมอกควัน ไฟป่ารุมเร้าพื้นที่ภาคเหนือ แม้ปี 2560 นี้ไม่ได้รุนแรงเหมือนหลายปีที่ผ่านมา แต่ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากและแก้ได้ยาก เพราะปัญหายังคงเกิดขึ้น แม้เจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามรณรงค์ห้ามเผาและกำหนดห้วงเวลาเฝ้าระวังไฟป่าและหมอกควันในช่วงวิกฤต เริ่มตั้งแต่ 1 ก.พ. – 30 เม.ย. 2560 พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่คนยังลักลอบเผาต่อเนื่อง หนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้วิกฤตตรงนี้คือ การนำนวัตกรรมมาใช้ ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งได้แก่ ผลงาน “การดึงดูดอนุภาคควันไฟป่า จากอากาศสู่พื้นดินด้วยวงแหวนไอน้ำอิ่มตัวเสริมประจุไฟฟ้า” ของทีมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ที่เพิ่งคว้ารางวัลไปหมาด ๆจากเวที “วันนักประดิษฐ์ 2560″ วช.ไปครอง
ทั้งนี้จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ วันที่ 16 มีนาคม 2560 พบว่า ยังมีฝุ่นละอองสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในหลายจังหวัด และเฉพาะที่ลำปางพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ถึง 16 มีนาคม มีพื้นที่ป่าถูกเผาไปแล้วมากกว่า 6,000 ไร่ จับกุมผู้กระทำความผิดดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 12 ราย
ที่ผ่านมามีเกษตรกรมีการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูกรับฤดูฝน โดยวิธีการหลายอย่างนับจากการไถกลับซากพืชเพื่อไม่ต้องเผา ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายซากพืช ตอซังข้าวและฟางข้าว แต่การเผาดูเหมือนเป็นวิธีที่ง่ายและได้รับความนิยมสุด จึงต้องช่วยกันรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งต่อสุขภาพคน ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสัตว์ พืชและสิ่งแวดล้อมทั่วไป แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงเกิดปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้เห็นกันทุกปี
สำหรับนวัตกรรมเพื่อต่อสู้กับปัญหาหมอกควันไฟป่าที่อาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เป็นผลงานชื่อว่า “การดึงดูดอนุภาคควันไฟป่า จากอากาศสู่พื้นดินด้วยวงแหวนไอน้ำอิ่มตัวเสริมประจุไฟฟ้า” ของ ทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับ รางวัลชนะเลิศ ประเภทอุดมศึกษา กลุ่มเรื่องที่ 1 ด้านสิ่งประดิษฐ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จากเวทีงาน “วันนักประดิษฐ์ 2560 (Thailand Inventors’ Day 2017)″ โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ.60 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายชัยพร เลิศมณีพงศ์ เปิดเผยว่า ทีมงานมีสมาชิก 8 คน เป็นนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ อาจารย์วรพจน์ ศตเดชากุล ทั้งนี้พวกตนได้รับแรงบันดาลใจคิดประดิษฐ์เครื่องมือกำจัดหมอกควัน หลังจากไปออกค่ายอาสากับทางคณะฯ และมีประสบการณ์พบเห็นเหตุการณ์ไฟป่าที่หมู่บ้างแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ทำให้เข้าใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในท้องถิ่น เมื่อกลับมาจึงคิดประดิษฐ์ เครื่องมือเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหาหมอกควัน ไฟป่า
ทั้งนี้เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้ไอน้ำทำให้เกิดวงแหวนแล้วเสริมประจุไฟฟ้าบวก-ลบ ยิงขึ้นไปในอากาศ ทำให้ควันไฟมีน้ำหนักและร่วงหล่นลงมาเอง โดยในการพัฒนาทำให้สามารถควบคุมการทำงานได้แบบอัตโนมัติและผ่านระบบไร้สาย สามารถยิงได้ไกลเป็นรัศมี 10×10 เมตรและ น้ำ 1 ลิตรสามารถใช้งานได้นาน 3 ชั่วโมง เครื่องดังกล่าวได้ผ่านการทดลองในห้องขนาด 3×5 ม.แล้ว โดยพบว่า ใช้เวลากำจัดควันได้หมดภายในเวลา 1 ชั่วโมง เท่านั้นและเวลานี้ได้นำเครื่องทดลองใช้ในโรงพยาบาลกำแพงแสน และที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
ถือเป็นผลงานที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพื้นที่ประสบหมอกควัน ไฟป่าในอนาคต นอกจากนี้ยังมีราคาไม่แพง โดยมีต้นทุนในการประดิษฐ์เพียง 100,000 บาท อนาคตหากภาครัฐสนับสนุนจะสามารถนำไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าเขาและได้รับผลกระทบจากหมอกควัน นอกจากนี้แล้วยังสามารถนำไปใช้ในระบบบำบัดในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานควบคุมมลพิษได้ด้วย
เป็นผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่สามารถนำมาใช้ได้จริง ๆ ไม่สูญเปล่า
ขอบคุณภาพประกอบจาก-http://kps.ku.ac.th-www.dek-d.com