ปส.แจงต้องดูแล X-ray ทันตกรรม
เพื่อปลอดภัยผู้ใช้ ประชาชน-สวล.
หลังจากพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ได้เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 นั้น ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในวงการทันตแพทย์ไทย เกี่ยวกับการกำกับดูแลเครื่องเอกซเรย์ทันตกรรม ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.)มิได้นิ่งนอนใจต่อประเด็นดังกล่าว โดยได้รับฟังและเร่งพิจารณาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่าย เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและชัดเจนในข้อเท็จจริง ปส. ขอชี้แจง วัตถุประสงค์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์วัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไป รวมถึงสิ่งแวดล้อม
การกำกับดูแลของปส.เป็นไปตามกฎหมายดังนี้
1.พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีเจตนารมณ์ในการควบคุมการใช้ประโยชน์วัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้รับบริการ และประชาชนทั่วไป รวมถึงสิ่งแวดล้อม
- พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และกฎหมายลูก มีเนื้อหาเป็นไปตามมาตรฐานทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
3.เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตามพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2508 อย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่า 50 ปีแล้ว โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางเทคนิคให้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในการตรวจสอบคุณภาพเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งยังใช้เป็นหลักเกณฑ์การกำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 นี้ด้วย
- เครื่องกำเนิดรังสีทางทันตกรรมมีค่าพลังงาน 60-120 keV ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับเครื่องตรวจ วัดความหนาแน่นกระดูก และเครื่องเอกซเรย์เต้านม (เครื่องแมมโมแกรม) เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. จึงจำเป็นต้องกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ และประชาชนผู้รับบริการ
- สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้มีการประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดผ่านกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ตามนโยบายของรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวง
ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ ๓ เมษายน 2560 ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้นัดหารือผู้เชี่ยวชาญทางรังสี ได้แก่ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ คณะเทคนิคการแพทย์ และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งหากมีข้อมูลเพิ่มเติม ปส. จะเร่งรวบรวมและประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักนโยบายและบริหารด้านพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ 1123 – 1127