ก.วิทย์ร่วม50หน่วยงานหนุนEECi
ยกระดับอุตฯ-เศรษฐกิจด้วยวทน.
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi : Eastern Economic Corridor of Innovation) ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หนุนไทยแลนด์ 4.0 โดย คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงภาคตะวันออก ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้เกียรติร่วมถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดตั้งเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับพันธมิตรที่จะร่วมมือพัฒนา EECi ในขณะนี้ประกอบด้วย ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวม 50 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานภาคเอกชน 20 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท สุพรีม ไฮทีร่า จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทวา จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด, บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท แบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด, สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), ประชารัฐ กลุ่ม D5 การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต, บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน), บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด, บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ Corbion Purac (Thailand) Ltd.
หน่วยงานสถาบันการศึกษา 15 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันไทย-เยอรมัน และ โรงเรียนกำเนิดวิทย์
สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างประเทศ 5 หน่วยงาน ได้แก่ Chinese Academy of Sciences (CAS), Korea Advanced Institute of Science & Technology (KAIST), Japan-ASEAN Science, Technology, and Innovation Platform (JASTIP), Kyoto University, Tokyo Tech และ สถาบันฟรอนโฮเฟอร์ (Fraunhofer-Gesellschaft)
สถาบันวิจัยในประเทศ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 10 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), กรมวิทยาศาสตร์บริการ, สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ประเทศไทย, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันยานยนต์
EECi ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 แห่ง ได้แก่ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นที่ตั้งของ ARIPOLIS ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ และ BIOPOLIS อุตสาหกรรมชีวภาพ และพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park, SKP) ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 120 ไร่ มุ่งเน้นอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ (Aerospace)
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้พัฒนา “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือเรียกว่า EECi ให้มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนการวิเคราะห์ทดสอบที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก โดยในพื้นที่ EECi ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม โรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต รวมถึงกำหนดให้ EECi เป็นเขตผ่อนปรนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถทดสอบนวัตกรรมใหม่ได้ (Sandboxes for Regulatory Adjustment) นอกจากนี้ EECi ยังจะดำเนินกิจกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วย วทน. ควบคู่ไปด้วย
สำหรับกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายของ EECi จะประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ARIPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ, BIOPOLIS: ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาzพ (Life Science & Biotechnology) และ SPACE KRENOVAPOLIS (Space Krenovation Park): ศูนย์กลางและฐานในการรังสรรค์นวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
โดยสรุปเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เป็นพื้นที่ส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมเดิม สร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ด้วยการทำวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย และภาครัฐ รวมถึงชุมชนในพื้นที่ อันจะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย วทน. และมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไปในอนาคต