ธพว.นำร่องเปิดตัวสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ใต้คอนเซ็ปต์ “เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย” ดันผู้ประกอบการเข้าสู่แหล่งทุนกว่า 9,000 ราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 150,000 ล้านบาท พร้อมเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs เตรียมพร้อมธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 เล็งจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดภายในพ.ค.นี้
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงานนำร่องเปิดตัว สินเชื่อ SMEs Transformation Loan และ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เติมเต็มเงินทุน ติดอาวุธความรู้ ติดปีก SMEs ไทย โดยมี นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อร่วมผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินรวมกว่า 35,000 ล้านบาท ซึ่งจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 9,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 72,000 คน สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 151,140 ล้านบาท โดย ธพว.เป็นแกนหลักในการเติมเต็มเงินทุนและเสริมสร้างองค์ความรู้เพื่อความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและประสบความสำเร็จ
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME Development Bank กล่าวว่า “รัฐบาลต้องการให้ผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือผ่านนโยบายภาครัฐ จึงได้มีการส่งเสริมผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก เพื่อส่งเสริมธุรกิจให้พัฒนา ยกระดับก้าวสู่อุตสาหกรรม ไทยแลนด์ 4.0 และคาดว่าสินเชื่อและกองทุนตามนโยบายภาครัฐดังกล่าว จะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมจะเวียนให้ครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดภายใน เดือน พ.ค.นี้ แบ่งเป็นเดือนเมษายน 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครศรีธรรมราช สงขลา อ.หาดใหญ่ ตรัง เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด อุดรธานี เดือนพฤษภาคม 5 จังหวัด คือ สกลนคร ลพบุรี นครปฐม พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา”
สำหรับ สินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ทำให้กิจการมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อความเข้มแข็ง, ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการใหม่ (NEW/START UP) หรือที่มีนวัตกรรม, ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve หรือ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น โดยคิดดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียงร้อยละ 3 ต่อปี จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 3,000 ราย (วงเงินค้ำประกันเฉลี่ยต่อราย 5 ล้านบาท) รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท เป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัวเปิดบริการดีเดย์นับแต่ 3 เมษายน 2560 ทุกสาขาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้ธนาคารดำเนินการจัดอบรมผู้ประกอบการที่เข้าโครงการ เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการวางแผนธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารจัดการ, กลยุทธ์การเพิ่มยอดขายผ่านสื่อออนไลน์, การเงิน บัญชีและภาษี, การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ กลุ่มตลาด CLMV กลุ่มตลาด AEC ซึ่งรวมถึงการจับคู่ธุรกิจ, กิจกรรมออกบูธจำหน่ายสินค้าในท่าอากาศยานสนามบิน และบนสายการบิน ส่งเสริมธุรกิจ E-Commerce เป็นต้น นับเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่ช่วยลดภาระทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนเตรียมความพร้อมธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0
กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในรูปแบบของนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยคิดเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายคืน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และ 75% ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย (วงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ล้านบาท) โดยธุรกิจต้องอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ของแต่ละจังหวัด เช่น ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น
แต่ละจังหวัดจะกำหนดธุรกิจกลุ่มยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้กว่า 6,000 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 48,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 82,440 ล้านบาท โดยมีคณะทำงานของแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบการ นำโดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, พาณิชย์จังหวัด, สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหอการค้าจังหวัด เป็นต้น โดยมอบหมายให้ ธพว. ร่วมเป็นคณะทำงานในแต่ละจังหวัดด้วย คาดว่าช่วงหลังสงกรานต์นี้จะแล้วเสร็จ พร้อมดำเนินการอนุมัติเบิกจ่ายได้ในเดือนพฤษภาคม 2560
“การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจหลักของ ธพว. ที่สานต่อนโยบายรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ 6 ข้อ ประกอบด้วย ข้อ (2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการค้า และการเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคต โดยเน้นไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ยกระดับผลิตภาพแรงงาน พัฒนา SMEs สู่สากล และพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และสถาบันเกษตรกร และข้อ (4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาค และเท่าเทียมกันทางสังคม เป็นการเร่งกระจายโอกาสการพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคง และการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยมุ่งหวังประโยชน์สูงสุดให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและการพัฒนาเติมองค์ความรู้รอบด้าน สู่ความสำเร็จของธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” นายมงคลกล่าว
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจใช้บริการเงินกู้สินเชื่อ SMEs Transformation Loan และ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สามารถติดต่อยื่นคำขอกู้ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือสอบถาม Call Center 1357 หรือสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมของธนาคารผ่านช่องทาง facebook.com/SMEDevelopmentBank