หลักทรัพย์บัวหลวงก้าวต่อปี60
ตอกย้ำผู้นำ ธุรกิจหลักทรัพย์
“หลักทรัพย์บัวหลวง” ประกาศ ปี2560 ตอกย้ำผู้นำด้านธุรกิจหลักทรัพย์ ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกสายธุรกิจ หลังปี 2559 ยังสามารถรั้งตำแหน่งบริษัทหลักทรัพย์มีผลกำไรสูงสุดมาครองท่ามกลางตลาดผันผวนหนัก ด้วยกำไรสุทธิ 1,072 ล้านบาท ใกล้เคียงปี 2558 การได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ส่งผลให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ 240,000 ราย ณ สิ้นปี 2559 อีกทั้งการเป็นผู้นำพัฒนานวัตกรรม ผนึกฟินเทคสร้างเครื่องมือลงทุนใหม่เป็นประโยชน์ต่อยอดบริการลูกค้า
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ของบริษัท ยังเน้นการรักษาความเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจหลักทรัพย์ ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกสายธุรกิจ โดยในปี 2559 ยังสามารถรั้งตำแหน่งบริษัทหลักทรัพย์ที่มีผลกำไรสูงสุด ด้วยกำไรสุทธิ 1,072 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2558 ที่ผ่านมา จากยอดรายได้รวม 3,219 ล้านบาท และยังมีฐานลูกค้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrants) ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดกว่า 6 ปีติดต่อกัน
“ในปี 2559 เป็นปีที่ธุรกิจหลักทรัพย์มีความผันผวนสูง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ที่มีผลต่อการซื้อขายของนักลงทุน บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นจากลูกค้าเก่าที่ยังคงทำการซื้อขายกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าใหม่ที่มีการเปิดบัญชีกับบริษัท ไม่ว่าผ่านช่องทางการแนะนำของธนาคารกรุงเทพ การเปิดบัญชีกับผู้แนะนำการลงทุนของบริษัท หรือ ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งมีปริมาณสูงมากขึ้นในทุกช่องทางถึงแม้ว่าบางช่วงเวลาที่สภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย เป็นเพราะลูกค้าเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของบริการและเครื่องมือต่างๆ ที่บริษัทได้นำเสนอให้ลูกค้าเลือกใช้ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของการให้ความรู้ผ่านการอบรมสัมมนา หรือ การพัฒนาโปรแกรมต่างๆ สำหรับงานด้านวาณิชธนกิจ บริษัทยังประสบผลสำเร็จในการนำบริษัทจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และทุกบริษัทฯ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน” นายพิเชษฐเผย
ด้วยภาวะความผันผวนของตลาด ทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 4 หมื่นล้านบาทต่อวัน เป็น 4.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายของโบรกเกอร์โดยรวม ในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากราว 2.7 หมื่นล้าน เป็น 2.9 หมื่นล้าน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 แสดงให้เห็นถึงภาวะการแข่งขันของโบรกเกอร์
“ภาวะการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ จะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาของบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่ ซึ่งจะยิ่งทำให้เราต้องพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด นอกจากการแข่งขันจากโบรกเกอร์ด้วยกันเองแล้ว ยังมีผู้ประกอบการในรูปแบบใหม่ ที่มีการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือ application โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาสร้างผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า ฟินเทค ซึ่งหลักทรัพย์บัวหลวงได้เป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือในการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม หลักทรัพย์บัวหลวงได้คัดเลือกฟินเทคที่น่าสนใจ และมีศักยภาพในการสร้างเครื่องมือการลงทุนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของลูกค้า เพื่อมาทำงานร่วมกันในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักลงทุน และเป็นการต่อยอดการให้บริการแก่ลูกค้าอีกด้วย” นายพิเชษฐกล่าว
นายพิเชษฐกล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้การลงทุนอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อ “Investment Space by Bualuang Securities” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เป็นการเปิดสาขาแนวใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นแหล่งจุดประกายด้านการลงทุนให้กับนักศึกษาและผู้สนใจ บ่มเพาะแนวคิดการสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างถูกต้อง รวมทั้งเป็นการผสมผสานความร่วมมือด้านวิชาการและโลกธุรกิจการเงินเพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและผู้สนใจ โดยบริษัทได้ประเดิมจัดโครงการสร้างสรรค์แรก คือ โครงการ Anytime Internship ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษามาร่วมฝึกงานและพัฒนาความรู้ความสามารถกับหลักทรัพย์บัวหลวง ด้วยการเก็บชั่วโมงฝึกงานตามเวลาที่ยืดหยุ่นได้ตามความสะดวกของนักศึกษา นับว่าเป็นคอร์สฝึกงานที่ออกแบบเพื่อนักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องการลงทุนอย่างถูกวิธี ผสมผสานกับงานที่ได้รับมอบหมายจากทีมงานมืออาชีพของบริษัท โดยมีนักศึกษาจากคณะต่างๆ ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Anytime Internship ในครั้งแรก จำนวน 80 คน
สำหรับธุรกิจใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ นายพิเชษฐกล่าวเพิ่มเติมว่า หลักทรัพย์บัวหลวงยังคงความเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งในด้านจำนวนใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีการเสนอขายปี 2559 ปริมาณการซื้อขายและยอดการถือครองของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่อง และในด้านธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ ก็ได้มีการเติบโตในการให้บริการธุรกรรมการซื้อขายแบบจับคู่ซื้อขาย (บล๊อคเทรด) ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมการซื้อขายตราสารได้อย่างคล่องตัว
นอกจากนี้ บริษัทยังมีการเติบโตทั้งในส่วนของการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ ต้องยอมรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีการระดมทุนค่อนข้างน้อย แต่บริษัทก็ยังได้เป็นที่ปรึกษาและผู้จัดการและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ทั้งในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ อย่าง Banpu Power และหุ้นที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดอย่าง After You สำหรับทิศทางธุรกิจวาณิชธนกิจในปี 2560 นั้น บริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทที่เตรียมจดทะเบียนเข้าในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท และคาดว่าจะเสนอขายหลักทรัพย์ภายในปี 2560
นายพิเชษฐเผยต่อว่า ในส่วนของทิศทางธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2560 นี้ จะเป็นอีกปีที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก จากการที่ปี 2560 จะมีการคาดการณ์ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ที่จะแตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ คงต้องยอมรับว่า ในปี 2559 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นมากพอสมควร และต้องอาศัยปัจจัยใหม่ๆ ที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม จึงทำให้การลงทุนในหลักทรัพย์ในปีนี้ น่าจะยังอยู่ในกรอบแคบๆ จนกว่าจะมีปัจจัยไม่ว่าจะเป็นในทางบวกหรือลบ ที่จะทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
ด้านนายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเสริมว่า จากสถิติของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีจำนวนลูกค้าที่เปิดบัญชีซื้อขายทั้งประเทศ ณ สิ้นปี 2559 รวม 1,355,664 ราย เพิ่มขึ้น 110,757 รายจากปี 2558 อย่างไรก็ดี หลักทรัพย์บัวหลวง มีฐานลูกค้ารวม ณ สิ้นปี 2559 รวมประมาณ 240,000 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 40,000 รายจากปี 2558 คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณ 36% ของการเติบโตทั้งตลาด ซึ่งสะท้อนถึงความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อการดำเนินงานของบริษัทที่เน้นการให้ความรู้ให้ลูกค้าเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพ รวมถึงความโดดเด่นด้านนวัตกรรมการบริการอย่างต่อเนื่องที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมา บริษัทได้แนะนำบริการใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงคือ กลยุทธ์การออมหุ้นแบบอัตโนมัติโดยใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ พัฒนาการที่สำคัญคือบริษัทได้มีการลงนามความร่วมมือกับไดชิน เซเคียวริตี้ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำแห่งประเทศเกาหลีใต้ เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในปีหน้า