เอ็มเทค สวทช.-พพ.ต่อยอด
H-FAMEไบโอดีเซลคุณภาพ
กระทรวงวิทย์ฯ โดยศูนย์เอ็มเทค สวทช. ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงานภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานลงนามร่วมมือโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” โดยใช้กระบวนการ H-FAME ระดับโรงงานสาธิตในประเทศไทย จากโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น แก่ผู้ผลิตไบโอดีเซลในประเทศ 2 ราย คือ บจก.บางจากไบโอฟูเอล และ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคัล เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการผลักดันการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในอนาคต
ดร.อารี ธนบุญสมบัติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “ศูนย์เอ็มเทค หน่วยงานภายใต้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีหน้าที่หลักในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และสร้างคุณค่าให้แก่สังคม โดยโครงการ “สนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น” ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยการนำเทคโนโลยี H-FAME ซึ่งต่อยอดจากโครงการร่วมวิจัย ไทย-ญี่ปุ่น (JST-JICA SATREPS) ที่สามารถผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูง มาขยายผลให้เป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้มีการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น”
“ที่ผ่านมาโครงการได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้องและชี้แจงรายละเอียดต่างๆ และมีขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญคือ การคัดเลือกตัวแทนโรงงานไบโอดีเซลเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี H-FAME จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) และบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) โดยหลังจากนี้ทั้ง 2 โรงงานจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี H-FAME เพื่อผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณสมบัติทางเชื้อเพลิงที่สูงกว่าเชื้อเพลิงไบโอดีเซลที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องการให้มีการปรับคุณภาพของไบโอดีเซล หากจะต้องมีการใช้สัดส่วนการผสมไบโอดีเซลที่เพิ่มขึ้น และเพื่อความมั่นใจกับทุกภาคส่วน โดยโครงการนี้จะมีการนำร่องโดยนำเชื้อเพลิง B10 ที่ผสมด้วยไบโอดีเซลคุณภาพสูงไปทดลองใช้กับรถยนต์ของหน่วยงานของรัฐ และจะมีการแถลงผลการดำเนินงานในโอกาสต่อไป”
ดร.นุวงศ์ ชลคุป นักวิจัยอาวุโสและหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า “คณะกรรมการทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ได้พิจารณาจากผู้ประกอบการผลิตไบโอดีเซลในประเทศ ที่มีความพร้อมผ่านตามเกณฑ์ประเมิน โดยทีมวิจัยจะร่วมกับโรงงานสาธิตที่ได้รับคัดเลือกนี้ ในการศึกษาเทคโนโลยี H-FAME เชิงเทคนิคการผลิตและประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งสามารถผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงหรือ H-FAME ออกมาใช้งานได้จริง เชื้อเพลิง H-FAME จะถูกผสมกับดีเซลในสัดส่วนร้อยละ 10 หรือที่เรียกว่า B10 ซึ่งจะมีการตรวจสอบคุณภาพเชื้อเพลิงให้ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานกรมธุรกิจพลังงาน และนำไปทดสอบกับรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล นอกจากนี้ โครงการจะทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อเพลิงไบโอดีเซลและน้ำมันดีเซลในระบบจัดเก็บและระบบจัดจำหน่าย เพื่อตรวจวัดคุณภาพตามเกณฑ์ที่ประเมินไว้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์และผู้บริโภคในการใช้เชื้อเพลิง B10 ต่อไป”
ด้าน นายธนชิต มกรานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด (BBF) กล่าวว่า “BBF ในฐานะผู้ผลิตไบโอดีเซลมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อหาแนวทางพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลให้เป็นไปตามข้อเสนอของกลุ่มยานยนต์ ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลสามารถทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่โครงการเลือกใช้ในการศึกษาคือ H-FAME ซึ่งบริษัทฯ จะสนับสนุนด้านการผลิต H-FAME ระดับโรงงานสาธิต เพื่อหาข้อมูลเชิงเปรียบเทียบด้านการผลิต และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ให้เป็นข้อมูลกับภาครัฐและผู้ประกอบการเพื่อพิจารณาเลือกใช้ในอนาคต นอกจากนี้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้จากโรงงานสาธิตจะถูกนำไปทดสอบใช้งานจริงกับเครื่องยนต์ดีเซลเพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานของผู้บริโภค ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนที่สูงขึ้นในอนาคตของประเทศ”
ขณะที่ นายจิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) กล่าวว่า “GGC ได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการลงนามและเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวในฐานะผู้ผลิต B100 รายใหญ่ของประเทศไทย ที่มีความพร้อม ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพไบโอดีเซลเพื่อประโยชน์สูงสุด และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้ไบโอดีเซลในอนาคต โดยหนึ่งในหลายๆ แนวทางที่มีความเป็นไปได้ในการเพิ่มคุณภาพไบโอดีเซล คือการศึกษาการใช้เทคโนโลยี H-FAME
ทั้งนี้ ไบโอดีเซลที่ได้รับการพัฒนาด้วยวิธีการดังกล่าว ยังอยู่ในช่วง lab scale เท่านั้นในปัจจุบัน และยังไม่เคยผ่านการทดสอบในเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้วิ่งในระยะยาวมาก่อน จึงถือเป็นความท้าทายอีกขั้นของการวิจัยและเป็นหนึ่งในการค้นหาทางเลือกใหม่ๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพของ B100 ให้ดีขึ้นของ GGC”