สกว.เร่งงานวิจัยสู่พาณิชย์
เป็น ‘แม่ไก่’ ดึงม.ช่วยเอกชน
สกว.เดินหน้าขับเคลื่อนงานวิจัยสู่พาณิชย์ หวังเป็นแม่ไก่ดึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่มาร่วมทำวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน กระตุ้นให้เกิดนักวิจัยอาชีพที่ทำงานเต็มเวลา พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง จนขับเคลื่อนออกสู่พาณิชย์ได้ บอร์ดย้ำงานวิจัยต้องเข้าถึงอุตสาหกรรมและชาวบ้านได้จริง พวอ.เผยปีงบประมาณ 2560 จัดสรรทุนไปแล้วรวม 106 ทุน คิดเป็นมูลค่า 94.63 ล้านบาท มีภาคเอกชนร่วมลงทุน 105 โครงการ
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของทั้งสองโครงการ ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ อาทิ การดำเนินงานบัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า เชื่อว่าคณะทำงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และมีวิสัยทัศน์ดีจะสามารถขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดประโยชน์และมีผลผลิตได้ แต่ต้องไม่แย่งผลงานที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จกัน ทั้งนี้มหาวิทยาลัยไทยมีจำนวนมาก งบประมาณที่ผ่านมามีจำนวนจำกัด แต่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามีงบประมาณให้ถึง 1,400 ล้านบาท จึงต้องจัดระบบในการเข้าถึงนักวิจัยแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อมารับทุนของ สกว. ซึ่งเป็นแกนหลักของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“รถไฟมีหลายขบวน เราต้องมาดูว่าจะอยู่ขบวนไหนได้บ้าง และต้องพิจารณายุทธศาสตร์แต่ละจังหวัด เช่น รถไฟรางเบา รวมถึงงานวิจัยเกี่ยวกับอากาศยาน การคมนาคมขนส่ง ที่ยังขาดกำลังคน เราต้องเป็นแม่ไก่ เดินสายคุยกับมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราภัฏ เพื่อหานักวิจัยที่ตรงสาขามาขับเคลื่อนงาน ขณะที่รัฐบาลก็จะดูว่าเรามีอะไรที่บ้านเมืองจะไปได้ดีกว่านี้ เราจึงต้องทำงานวิจัยให้เข้าถึงอุตสาหกรรมและชาวบ้าน ร้อยงานวิจัยให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ไม่ได้มีแต่แค่ผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ แต่ต้องส่งผลต่อการขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย”
ทั้งนี้ สกว.จะต้องมองภาพใหญ่ และทำให้เกิดบันไดนักวิจัยอาชีพให้ได้ในมหาวิทยาลัย พยายามก้าวข้ามกระบวนทัศน์ให้นักวิจัยทำวิจัยเต็มเวลา ที่สำคัญต้องให้ร่อนหรือสกัดงานวิจัยที่ได้ว่าเทคโนโลยีฐานมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรต่อภาคเอกชน จะเอาไปใช้อย่างไร เช่น ระบบการทำงานของหุ่นยนต์ ซึ่งเรื่องนี้เอกชนต้องพูดให้ภาครัฐเข้าใจ นอกจากนี้ยังต้องเชิญชวนให้นักวิจัยพัฒนางานอย่างต่อเนื่องจนขับเคลื่อนให้ออกสู่พาณิชย์ได้ ซึ่งคงไม่ได้ทำสำเร็จได้ในโครงการเดียว ส่วนใหญ่ยังต้องมีการปรับปรุงและทดสอบผลงานจนแน่ใจจึงจะนำไปใช้ได้จริง
ด้าน รศ. ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ พวอ. ระบุว่าในปีงบประมาณ 2560 พวอ.ได้จัดสรรทุนไปแล้วรวม 106 ทุน คิดเป็นงบประมาณจำนวน 94.63 ล้านบาท มีภาคเอกชนร่วมลงทุน 105 โครงการ โดยกระจายตัวในทุนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจำนวน 102 ทุน ใน 21 มหาวิทยาลัย สัดส่วนผู้ร่วมทุนมากที่สุด คือ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และการแพทย์ครบวงจร ตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เช่น เครื่องจักรและโลหะการ ก่อสร้างและวัสดุ่กอสร้าง เซรามิกส์ ไม้และเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ขณะที่ รศ.วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ ผู้ประสานชุดโครงการอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายรัฐบาล และไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน มีผู้สนใจลงทุนนั้น กล่าวว่า สกว.ได้รับงบประมาณให้จัดสรรทุนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาและเพิ่มการลงทุนในการทำวิจัยมากขึ้น เปิดโอกาส เพิ่มจำนวน และพัฒนานักวิจัยเข้าสู่อุตสาหกรรมดังกล่าวมากขึ้น ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ โดยมีกรอบการสนับสนุนงานวิจัยจำนวนมาก เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์แก้ปัญหาหรือการจัดการทรัพยากรบุคคลหรือองค์กร รวมถึงธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ งานพัฒนาธุรกิจออนไลน์ การวิเคราะห์ข้อมูลของผู้บริโภค การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต และสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น โดยมีการกระจายของกลุ่มผู้ขอรับทุนสนับสนุนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง สกว. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 65 ล้านบาท
“จังหวัด เมือง และเทศบาลใหญ่ ๆ มีโอกาสทำงานเชิงบูรณาการได้จำนวนมาก โดยมีความต้องการของหน่วยงานเป็นตัวตั้ง งานวิจัยนี้จะไปได้ดีกับท้องถิ่นที่มีผู้บริหารรุ่นใหม่ มีโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีได้มาก ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดภูเก็ต ที่มีโจทย์วิจัยจำนวนมาก แต่นักวิจัยในพื้นที่อาจไม่เพียงพอ ต้องร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อมาช่วยพัฒนางานด้านโลจิสติกส์และวิศวกรรมด้วย” ดร.กฤษณพงศ์ระบุ