หมอพื้นบ้านชูMOUรวมศาสตร์
รักษาภูมิปัญญาแพทย์อาเซียน
เสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการสำหรับการจัดงาน มหกรรมสุขภาพเซียน ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2560 ณ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยได้เชิญหมอพื้นบ้าน 7 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และอีก 2 ประเทศ จากเอเชียใต้ได้แก่ อินเดีย และศรีลังกา เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรักษา ดุแลสุขภาพแผนโบราณ เพื่อรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย
นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การจัดงานตลอด 6วันที่ผ่านมาถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ และถือเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เครือข่ายหมอพื้นบ้านอาเซียน ที่ได้รวมพลังกันเพื่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวให้ เห็นความสำคัญของการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย โดยแต่ละประเทศได้แบ่งปันประสบการณ์ในการรักษากันอย่างน่าสนใจ และเชื่อว่าจะมีการจัดงานแบบนี้อีกในรูปแบบของเครือข่ายอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และบันทึกเป็นองค์ความรู้ไว้เป็นตำรา เพื่อให้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษคงอยู่ต่อไป
โดยในการประชุมได้มีการแบ่งปันประสบการณ์และการสาธิตการรักษาในรูปแบบต่างของแต่ละประเทศ อาทิ หมอพื้นบ้านจากกัมพูชาได้ถ่ายทอดการรักษาแบบฝังเข็ม ครอบแก้ว ฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า การนวดแบบเขมร รักษาอัมพฤกษ์ อัมพาต นอกจากนี้ยังมีการสาธิตการรักษาโรคกระดูก โดยใช้คาถาด้วย
ส่วนประเทศเมียนมา นำเสนอการรักษาโรคกระดูกหัก ด้วยการเข้าเฝือกไม้ไผ่ การคำนวณการรักษาโดยหลักทางดาราศาสตร์ รวมทั้งความเชื่อที่ว่ามนุษย์ป่วยเกิดจากธาตุไม่สมดุล หมอพื้นบ้านจากอินเดียแบ่งปันประสบการณ์เรื่องระบบการแพทย์พื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น 2 ระบบคือ การแพทย์ที่มีตำราการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและระบบการแพทย์ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นเป็นลักษณะของการจดจำ สมุนไพรที่มีการใช้มีมากกว่า 6แสน ส่วนที่มีการบันทึกเป็นรายลักษณ์อักษรมีการใช้กว่า 2,500 ชนิด
ทางด้านของอินโดนิเชีย ได้สาธิตการนวดแผนโบราณ ซึ่งเรียกว่า พีแจ็กโอรส ซึ่งเป็นการนวดที่รวมวัฒนธรรมอยู่ด้วย โดยการนวดจะทำร่วมกับพิธีกรรมที่ตั้งใจทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและขอพรจากพระเจ้า ประโยชน์ของการนวด เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดร่างกาย กระตุ้นระบบประสาท ลดความกังวล
ส่วนลาว ก็ได้แบ่งปันประสบการณ์ โดยเปิดเผยถึงหมอพื้นบ้านลาว ซึ่งมีเชื้อชนชาติ 49 กลุ่ม แบ่งได้ 4 ภาษา คือ จีน ทิเบต ม้ง มอญ มีการรักษาด้วยสมุนไพร และมีความพยายามที่รักษาพืชพันธ์สมุนไพรไม่ให้สูญหาย ลาวมีพิธีการรักษาที่ใช้คาถาพิธีกรรม สังเกต อวัยวะบนร่างกายสะท้อนโรค ควบคู่ไปกับการใช้การรักษาด้วย สมุนไพร
ขณะที่มาเลเซีย เน้นเรื่องการดูแลมารดาหลังคลอด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาปรัชญาตะวันออก ที่ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเองได้จัดเป็นไฮไลท์การดูแลรักษาโดยคืนศักดิ์ศรีและความสวยงามให้กับเพศหญิงใน 3 ช่วงคือ หลังคลอด วัยทอง วัยหมดประจำเดือน โดยมาเลเซียยึดนโยบายองค์การอนามัยโลก ที่สนับสนุนการผสมผสานการแพทย์ดั้งเดิมเข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากจะดูแลมารดาหลังคลอดในโรงพยาบาลแล้ว ยังมีหมอตำแยที่อยู่ตามหมู่บ้านดูแลให้คำแนะนำเรื่องอาหารการกินของมารดาอีกด้วย
ด้านฟิลิปปินส์ เล่าถึงการแพทย์ดั้งเดิมที่เรียกว่า ฮีล็อต (Hilot) สันนิษฐานว่า อาจพัฒนามาจากการแพทย์ดั้งเดิมของจีน โดยมองถึงปัญหาสุขภาพตลอดชีวิต ตั้งแต่ ทารก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ มารดาหลังคลอด ส่วน ศรีลังกา มีระบบการแพทย์หลายรูปแบบ และมีหมอพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนซึ่งมีความแตกต่างไปตามความถนัด ที่น่าสนใจคือ การรักษางูกัด ศรีลังกามีมีหมอรักษางูกัด สองพันคน ความรู้นี้ได้จากรุ่นสู่รุ่น และใช้สมุนไพรเป็นยารักษาควบคู่ไปกับการบริกรรมคาถา
ขณะที่หมอแผนไทย ได้นำเสนอความรู้เรื่องปัญจขันธ์มาใช้ประกอบการรักษาเป็นพื้นฐาน แนวทางของแพทย์ล้านนา โดยเริ่มจากการรักษาโรคด้วยวิธีกัวซา และครอบแก้ว ส่วน จ.ระนอง นำเสนอการใช้ พิธีกรรมเหนือธรรมชาติร่วมกับการรักษาด้วยสมุนไพร เช่น พิธีทำขวัญปัดเป่าโรคภัยให้กับเด็กที่แรกเกิด การใช้คาถาอาคมต่อกระดูกให้เดินได้ หมอจากสุโขทัย นำเสนอการนวดดั้งเดิมตรวจสัมผัสใบหน้า และเท้าสะท้อนการเจ็บป่วยและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ
สุดท้ายคือการรักษาเหนือธรรมชาติของหมอพื้นบ้าน จ.สุราษฎร์ธานี คือ พิธีมโนราห์เหยียบเสน เป็นการรักษาปานแดงปานดำที่เกิดในเด็กแรกเกิด การทำยาโปะกระหม่อม ที่มักทำร่วมกับพิธีทำขวัญเด็กเพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังนำเสนอการใช้ยาโปะกระหม่อมซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่มักทำร่วมกับพิธีรับขวัญเด็กเพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง
หลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าจะให้หมอพื้นบ้านของอาเซียนจะเดินไปในรูปแบบใด เพื่อให้รักษาภูมิปัญญาไว้ไม่ให้สูญหาย โดยมีผู้เสนอว่าน่าจะมีการลงนามความร่วมมือกันทั้งอาเซียนเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านโดยการจัดอบรมกำหนดเป็นหลักสูตร 10 วิชา โดยรวบรวมองค์ความรู้ของแต่ละประเทศเพื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่ให้ภูมิปัญญาบรรพบุรุษหล่นหาย
ขณะเดียวกันก็มีการเสนอให้มีการรวบรวมองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้านที่ล้มหายตายจากลงไปทุกปี นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้คำนึงถึงภาครายได้ของหมอพื้นบ้านด้วย โดยองคาพยพจะเข้มแข็งได้ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์กลางของแต่ละประเทศเพื่อประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งโดยใช้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นต้นแบบ