สวทช.ร่วมเครือข่ายพันธมิตร
จัด “5ปีโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก”
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิดงานครบ 5 ปี โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยเครือข่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทย และเป็นการวางรากฐานระยะยาวเพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกราบบังคมทูลว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ สวทช. สสวท. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายในประเทศไทย 8 แห่ง ริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 โครงการนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ซึ่งมีรูปแบบการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทำกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และพี่เลี้ยงนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอก คอยดูแลให้คำแนะนำระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมด้วยตนเอง จึงมีพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555
ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ทำให้การดำเนินงานได้ขยายเครือข่ายสู่สังคมและสาธารณะในวงกว้างมากขึ้น โดยเพิ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อีกจำนวน 10 แห่ง ทำให้มีหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 21 หน่วยงาน มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาโดยคณาจารย์และนักวิจัยนักวิชาการไทย จำนวน 63กิจกรรม โดยมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30,000 คน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดสะเต็ม (Science Technology Engineering and Mathematics Education: STEM) เป็นการต่อยอดหลักสูตรโดยบูรณาการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง และการประกอบอาชีพในอนาคต
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กราบบังคมทูลเบิกผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเครือข่าย ผู้แทนจาก สสวท. บริษัทเชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และ สวทช. จำนวน 22 คน เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตรโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย และฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง “Learning in an Extracurricular Learning Center (มหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในห้องทดลองมหาวิทยาลัย)”โดย ศาสตราจารย์ ดร.รูดอล์ฟ เฮอร์แบส จากทอยโทแล็บ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเสด็จฯ เปิดนิทรรศการ “5 ปีมหาวิทยาลัยเด็ก: ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน” พร้อมทอดพระเนตรการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของเด็กนักเรียนในโครงการ อาทิ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวทางพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มหัศจรรย์พืชเปลี่ยนสีได้ คลอโรฟิลล์แยกร่าง สิ่งประดิษฐ์จากหลอดแอลอีดี และประดิษฐ์กล้องเพอริสโคป เป็นต้น
“โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ สวทช. ในการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งโครงการมหาวิทยาลัยเด็กฯ นี้จะเน้นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนในระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเด็กจะได้เรียนรู้และเปิดโลกวิทยาศาสตร์ที่นอกเหนือจากตำราในห้องเรียน ได้รู้จักการนำวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน สามารถนำไปประยุกต์และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์ในมิติต่างๆ ทางสังคม ผ่านกิจกรรมการทดลองโดยมีนักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงที่คอยให้คำแนะนำปรึกษาอย่างใกล้ชิด” ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวเพิ่มเติม
นายแบรด มิดเดิลตัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอนเอเชียเซ้าท์ จำกัด กล่าวว่า “เชฟรอนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม แก่เยาวชน เพื่อพัฒนา ‘พลังคน’ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยของเชฟรอน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็มผ่านการเรียนรู้ในระบบการศึกษาและกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อให้เยาวชนเห็นว่าการศึกษาในสาขานี้เป็นเรื่องสนุกน่าสนใจ เกิดแรงบันดาลใจและสนใจในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2558 เชฟรอนประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 17 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย และได้ขยายขอบเขตการดำเนินโครงการไปสู่มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงเยาวชนทั่วประเทศ”
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธาน สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะหน่วยงานบริหารโครงการ Chevron Enjoy Science กล่าวว่า “ในปี 2560 โครงการ Chevron Enjoy Science ได้ตั้งเป้าหมายในการขยายการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทยไปสู่เยาวชนอีกกว่า 6 พันคนทั่วประเทศ พร้อมจัดอบรมแก่คณาจารย์และบุคลากรของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานพันธมิตร เพื่อพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพในการออกแบบและดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยตั้งเป้าจัดการอบรมให้แก่บุคลากรปีละประมาณ 50 คน”
การจัดงานครบ 5 ปีมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-3มิถุนายน 2560 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยภายในงาน ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษโดยวิทยากรจากทอยโทแล็บ มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ / การแสดงนิทรรศการโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย / การจัดฐานการทดลองกิจกรรมโครงการมหาวิทยาลัยเด็กสำหรับนักเรียน จำนวน 20 ฐาน อาทิ กิจกรรมวิทยาศาสตร์ตามแนวทางพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มหัศจรรย์พืชเปลี่ยนสีได้ และประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำอย่างง่าย เป็นต้น / กิจกรรมอบรมฝึกปฏิบัติการให้แก่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเครือข่าย โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้าว และสิ่งแวดล้อม และการจัดพิมพ์หนังสือ “คู่มือกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย: สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน“
รายชื่อหน่วยงานร่วมในโครงการ จำนวน 21 แห่ง ได้แก่
1. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
3. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 6. มหาวิทยาลัยมหิดล
7. มหาวิทยาลัยศิลปากร 8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
9. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 10. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 12. มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
13. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 14. มหาวิทยาลัยขอนแก่น
15. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
17. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 18. มหาวิทยาลัยพะเยา
19. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 20. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
21. โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต