มุมเกษตร..สวทช.-หอการค้า
ร่วมยกมาตรฐานผักผลไม้
จังหวัดจันทบุรีจัดงานใหญ่ประจำปีที่หลาย ๆ คนรอคอย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้โปรดปรานผลไม้ ได้แก่ “งานมหานครผลไม้ภาคตะวันออก ประจำปี 2560” (FRUITPITAL FAIR 2017) ภายใต้แนวคิด “ปลูกดี กินดี..ใต้ร่มพระบารมี “ โดยจัดขึ้นระหว่าง 3 – 11 มิถุนายน 2560 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี งานนี้ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้คัดผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านการเกษตรเด่นมาร่วมโชว์ด้วย
งานวิจัยเด่นที่ถือเป็นนวัตกรรมการเกษตรที่สำคัญด้วยรวมถึง ระบบ Hendy Sense (เฮนดี เซ้นส์) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร , นวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ActivePAK (แอคทีฟแพ็ค) เพื่อผักและผลไม้ให้สดอร่อยนานยิ่งขึ้น และมาตรฐาน ThaiGAP และ Primary ThaiGAP เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก
อีกทั้งสอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ 1 ของหวัดจันทบุรี ที่มุ่งพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการผลิต และจัดจำหน่ายผลไม้คุณภาพสูงจัดงานประจำปียิ่งใหญ่ มุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางผลไม้โลก” โดยตั้ง เป้าหมายเป็นพื้นที่จัดแสดงการค้าผักผลไม้โลก หรือ Fruitpital EXPO ภายในปี 2021
ทั้งนี้ในด้านการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์นั้น สวทช.โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการด้านสินค้าผักและผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” และโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” มุ่งเดินหน้าหนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP
ส่วนPrimary ThaiGAP ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้านความปลอดภัยของสินค้าเกษตร และที่สำคัญเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ในอาเซียนและตลาดโลก
โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ในการดำเนินโครงการ “การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ด้านสินค้าผักและผลไม้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ AEC ด้วย ThaiGAP” ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 – ปัจจุบัน โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 30 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP
ส่วนโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน Primary ThaiGAP” ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2559 – ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2 รายที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Primary ThaiGAP โดยผลิตผลทางเกษตรที่เข้าร่วมโครงการล้วนมาจากผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ที่หลากหลายกว่า 70 ชนิด อาทิ เมล่อน มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม แคนตาลูป แตงโม กล้วยหอม พริก ทุเรียน มังคุด เงาะ และมะเขือเทศ เป็นต้น
โปรแกรม ITAP สวทช. พร้อมเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP / Primary ThaiGAP อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ สำหรับปี 2560 – 2561 จำนวน 20 ราย ผู้ประกอบการที่สนใจสอบถามข้อมูลโครงการเพิ่มเติม ติดต่อ คุณพนิตา ศรีประย่า เจ้าหน้าที่โปรแกรม ITAP โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1301 หรืออีเมล panita@nstda.or.th
สำหรับ “Hendy Sense” (เฮนดี้ เซ้นส์) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์กับการควบคุมระบบการให้น้ำเพื่อการเกษตร นับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช.
ส่วนนวัตกรรมเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ ActivePAK (แอคทีฟแพ็ค) เป็นเทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์สำหรับยืดอายุและรักษาคุณภาพผักผลไม้สด ที่ทางศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ริเริ่มพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 15 ปี
มางานนี้รับรองคุ้มค่าจริง ๆ เสียดายอยู่ว่า ปีนี้ฝนตกมากไปหน่อย ทำให้อาจจะไม่สะดวกในการเดินทางมาเข้าชม