“สยามฯโพลล์” พบผู้ปกครอง50%
ไม่เชื่อหนังสือยืมเรียนช่วยลดงบฯ
สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ สำรวจความคิดเห็นผู้ปกครองเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายหนังสือยืมเรียนสำหรับเด็กนักเรียน ระหว่างวันที่ 11 ถึง 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,142 คน พบว่า ผู้ปกครอง 54.47 % ไม่เชื่อนโยบายหนังสือยืมเรียนช่วยลดงบประมาณได้จริง ขณะที่ร้อยละ 57.01 กังวลว่าการให้หนังสือยืมเรียนจะทำให้นักเรียนอ่านหนังสือเรียนน้อยลง 67.34% หนุนแนวคิดให้ซื้อหนังสือเรียนแบบลดครึ่งราคา/ในราคาต่ำกว่าราคาปกติเหมาะสมกว่าการให้ยืมเรียนเป็นรายปี
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเรียนฟรี 15 ปีสำหรับนักเรียนในระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันและยกระดับคุณภาพทางการศึกษาของประชากรในประเทศให้สูงขึ้น โดยนโยบายดังกล่าวได้กำหนดให้นักเรียนของรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนและได้รับหนังสือแบบเรียนฟรีสำหรับนักเรียนแต่ละคน
แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการมอบหนังสือแบบเรียนฟรีให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคลไปเป็นการให้หนังสือยืมเรียนเป็นรายปีเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการซื้อหนังสือแบบเรียนในแต่ละปี
ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนผู้คนทั่วไปในสังคมได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายการให้หนังสือยืมเรียน โดยบางส่วนมีความคิดเห็นว่านโยบายดังกล่าวอาจทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงหนังสือตำราเรียนของนักเรียนแต่ละคนหรืออาจทำให้นักเรียนในรุ่นถัดไปไม่ได้รับหนังสือแบบเรียนที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์
ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนหนึ่งมีความคิดเห็นว่า จะทำให้บุตรหลานไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาวิชาเรียนได้อย่างเต็มที่ จากประเด็นดังกล่าวสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อนโยบายหนังสือยืมเรียนสำหรับเด็กนักเรียน
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองแบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 48.34 และเพศหญิงร้อยละ 51.66 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ คือ
ด้านความรับรู้เกี่ยวกับนโยบายการให้หนังสือยืมเรียน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.84 ทราบว่า ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ใช้หนังสือยืมเรียนสำหรับนักเรียนเป็นรายปี แทนการมอบหนังสือเรียนให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคล ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 36.16 ไม่ทราบ
ด้านความคิดเห็นต่อการใช้นโยบายหนังสือยืมเรียนแทนการมอบหนังสือให้นักเรียนเป็นรายบุคคล กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.47 มีความคิดเห็นว่านโยบายให้ใช้หนังสือยืมเรียนสำหรับนักเรียนเป็นรายปีแทนการมอบหนังสือเรียนให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคลจะไม่มีส่วนช่วยลดงบประมาณทางการศึกษาได้จริง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.76 มีความคิดเห็นว่ามีส่วน และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.77 ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2ใน3 หรือคิดเป็นร้อยละ 68.04 มีความคิดเห็นว่านโยบายให้ใช้หนังสือยืมเรียนสำหรับนักเรียนเป็นรายปีแทนการมอบหนังสือเรียนให้กับนักเรียนเป็นรายบุคคลจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงหนังสือตำราเรียนที่มีคุณภาพได้ยากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.01 มีความคิดเห็นว่า นโยบายการให้หนังสือยืมเรียนเป็นรายปีกับเด็กนักเรียนจะมีส่วนทำให้นักเรียนอ่านหนังสือตำราเรียนน้อยลง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.26 มีความคิดเห็นว่านโยบายการให้หนังสือยืมเรียนเป็นรายปีกับเด็กนักเรียนจะส่งผลให้นักเรียนลดความเอาใจใส่/กระตือรือร้นในการจดบันทึกเนื้อหาวิชาเรียนต่างๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่ในหนังสือตำราเรียนลง
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.16 มีความคิดเห็นว่านโยบายการให้หนังสือยืมเรียนเป็นรายปีกับเด็กนักเรียนจะมีส่วนทำให้นักเรียนรู้จักทนุถนอมเก็บรักษาหนังสือตำราเรียนมากขึ้นได้ แต่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 60.68 ไม่เชื่อว่าหนังสือยืมเรียนสำหรับเด็กนักเรียนจะยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดิมสำหรับเด็กนักเรียนในปีการศึกษาถัดไปได้ยืมใช้ต่อ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.28 เห็นด้วยหากจะใช้นโยบายหนังสือยืมเรียนในหนังสือเรียนบางประเภทสำหรับเด็กนักเรียน เช่น หนังสืออ่านนอกเวลา หนังสืออ่านเพิ่มเติม หนังสือเรียนที่มีเฉพาะเนื้อหาโดยไม่มีแบบฝึกหัด เป็นต้น และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการให้หนังสือยืมเรียนเป็นรายปีกับการให้ซื้อหนังสือเรียนแบบลดครึ่งราคา/ในราคาที่ต่ำกว่าราคาจำหน่ายปกติ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.34 มีความคิดเห็นว่าการให้ซื้อหนังสือเรียนแบบลดครึ่งราคา/ในราคาต่ำกว่าราคาปกติมีความเหมาะสมกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.66 มีความคิดเห็นว่าการให้หนังสือยืมเรียนเหมาะสมกว่า