ย้อนรอยพัฒนาการแพทย์
“นิทรรศการ 70 ปี แพทย์จุฬาฯ”
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันจัดงาน Press Visit นิทรรศการ 70 ปี แพทย์จุฬาฯ สรรค์สร้างนวัตกรรม ก้าวนำสังคมไทย เพื่อจัดแสดงผลงานของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยสื่อมวลชนและผู้มีอุปการคุณ เข้าร่วมชมนิทรรศการ 70 ปี แพทย์จุฬาฯ สรรค์สร้างนวัตกรรม ก้าวนำสังคมไทย โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเยี่ยมชม
นิทรรศการ 70 ปี แพทย์จุฬาฯ ได้แบ่งเนื้อหาการจัดแสดงออกเป็น 8 โซน ดังนี้ …
โซนที่ 1 : ย้อนรอย 70 ปี จัดแสดงเหตุการณ์สำคัญโดยสังเขปของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระราชปรารภให้ผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับประชาชน คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของชาติจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แสดงถึงวิวัฒนาการและนวัตกรรมต่างๆ ที่คณะแพทยศาสตร์ได้สรรค์สร้างและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยมาตลอด 70 ปี
โซนที่ 2 : Landmark สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ มุ่งมั่น และพัฒนา
โซนที่ 3 : ก่อวิถีสร้างแพทย์ไทย จัดแสดงวีดิทัศน์ประวัติความเป็นมาของการผลิตแพทย์ในโครงการต่างๆ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มและดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติในแต่ละยุคสมัย เช่น โครงการส่งเสริมการศึกษาแพทย์สำหรับชาวชนบท พ.ศ. 2521 โครงการแพทย์แนวใหม่ พ.ศ.2531 รวมทั้งนวัตกรรมด้านแพทยศาสตรศึกษา เพื่อพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
โซนที่ 4 : นักวิจัยเพื่อสังคม ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาให้แก่นิสิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และนิสิตระดับบัณฑิตศึกษาแล้ว ยังเป็นแหล่งสร้างและพัฒนานักวิจัยให้แก่สังคมไทย คณาจารย์และศิษย์เก่าจำนวนมากได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัยและสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงปัญหาสุขภาพและสังคมโลก เช่น ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา , ศ.พญ.ท่านผู้หญิงศรีจิตตรา บุนนาค , ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ , ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล , ศ.ดร.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ฯลฯ อีกทั้งยังเป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อสังคมไทยในอนาคต
โซนที่ 5 : สั่งสมอุดมการณ์ เล่าเรื่องศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ที่ได้ออกไปทำงานในภาคส่วนต่างๆ ให้แก่สังคมไทย ทั้งในถิ่นทุรกันดารและในวงวิชาการ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชนและสังคม เป็นผู้พัฒนาสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบสาธารณสุขแก่ประเทศไทยตราบจนทุกวันนี้ ศิษย์เก่าที่มีบทบาทสำคัญ เช่น นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร , นพ.ศัลยเวทย์ เลขะกุล , ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ฯลฯ
โซนที่ 6 : จากพื้นฐานสู่นวัตกรรม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะและสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี ด้วยองค์ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับความร่วมมือจากนักวิชาการสหสาขา ระหว่างหน่วยงานจากทั้งภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย และภาคเอกชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จำนวนมากที่มีประโยชน์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแล การป้องกันและการรักษา ที่เหมาะสมกับคนไทย ในราคาย่อมเยาว์ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ตัวอย่างเช่น รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุ เกมคลื่นสมอง ลิ้นหัวใจเทียม ฯลฯ
โซนที่ 7 : ก้าวล้ำสู่ความเป็นเลิศ จากประสบการณ์ องค์ความรู้ที่ได้สร้างสรรค์ สั่งสมมากว่า 70 ปี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาต่อไปเพื่ออนาคตของประเทศไทย โดยมีการจัดตั้งหน่วยงาน ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจและสาธารณชน เช่น ศูนย์วิจัยมหาจักรีสิรินธรในพระราชูปถัมภ์ฯ ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการศึกษา ฯลฯ
โซนที่ 8 : เชิดชูนามแพทย์จุฬาฯ แพทย์จุฬาฯ จะก้าวต่อไปด้วยแรงกายและใจของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อพระราชปณิธานในการสร้างแพทย์เพื่อประชาชน สร้างความเจริญก้าวหน้าให้วงวิชาการ พร้อมทั้งการดูแลสุขภาพทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อไป
ในส่วนนี้จัดแสดงทัศนคติ มุมมอง ความคิดเห็น ความคาดหวังและเอกลักษณ์ของนิสิตแพทย์และแพทย์รุ่นใหม่ที่มีความหลากหลาย แต่มีเป้าหมายร่วมกันที่จะพัฒนาแพทย์จุฬาฯ ให้เป็นผู้นำทางการแพทย์ของสังคมไทยตลอดไป