วิกฤตสิ่งแวดล้อม.. มหันตภัยใกล้ตัว
ชี้รักษา “มหาสมุทร” คือทางรอด
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.)ร่วมกับสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน…ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย มหันตภัยใกล้ตัว” ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. อาคารจามจุรีสแควร์ ดำเนินรายการโดย นายสถาพร ด่านขุนทด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง3 ผู้บริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยชี้มนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญทำโลกเปลี่ยนแปลงในทางแย่ลง ส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อาหารและเศรษฐกิจ ด้านนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพา มอง “มหาสมุทร-ทะเล” คือ ทางออกสำหรับมนุษย์โลกในอนาคต หลังจากพึ่งพามหาสมุทรมหาศาลอยู่แล้วในปัจจุบัน ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาและร่วมกันดูแลรักษามหาสมุทรโลกไว้
ศาสตราจารย์ ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวในการ เสวนาหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ว่า วิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องไกลตัว ซึ่งโลกเราเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน เป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ หลากหลายและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เดิมการเปลี่ยนแปลงบนโลกมีสาเหตุมาจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่แย่ลงในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกและการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งแรงกดดันต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เช่น การมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น คุณภาพของน้ำแย่ลง รวมถึงความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้สถานภาพของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลงทั้งปริมาณและคุณภาพนั้นจะส่งผลกระทบต่อมิติความมั่นคงโดยรวม ทั้ง1)ในด้านสิ่งแวดล้อม ผลจากมีการใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถในการรองรับ 2) ด้านอาหาร บทบาทของระบบนิเวศในทะเลที่เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของมนุษย์ลดลงไป เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล และป่าชายเลน และ 3)ด้านเศรษฐกิจ มูลค่าที่ได้จากการใช้ประโยชน์บนฐานทรัพยากรลดลง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ บุคคล ชุมชนและการเมือง
“ปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น มากกว่า 400 ppm(ส่วนในล้านส่วน ) จาก 270 ppm ในยุค
ด้านดร.วศิน ยุวนะเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เสวนาในหัวข้อ “วิกฤตสิ่งแวดล้อมทางทะเล” โดยมองว่า “มหาสมุทร-ทะเล” คือ ทางออกสำหรับมนุษย์โลกในอนาคต โดยปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โลกอาจมีอายุประมาณ 4.6 ล้านล้านปี และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่กำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ในปี 1965 โลกมีประชากรประมาณ 3,322 ล้านคน แต่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 โลกมีประชากร 7,305 ล้านคน ปี 2016 เพิ่มเป็น 7,443 ล้านคน ปี 2017 เพิ่มเป็น 7,515 ล้านคน ส่วนไทยมี 68,296,876 ล้านคน และเชื่อว่า ในปี 2050 โลกจะมีจำนวนประชากรเฉียด 9,000 ล้านคนด้วยกัน
ผลพวงจากการเพิ่มประชากรมนุษย์นี้จะทำให้เกิดมหาวิกฤติโลก (World Mega-Crisis)ตามมา ทั้งด้านอากาศ น้ำ อาหาร & ยา พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ & สิ่งแวดล้อม โดยในภูมิภาคเอเชียขณะนี้ ปากีสถานถือว่าเป็นประเทศที่มีมลพิษสูงที่สุด ตามด้วยบังกลาเทศ อินเดีย เนปาลและจีน ส่วนไทยยังถือว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ปัญหาน้ำในปัจจุบันมีข้อมูลว่า มีประชากรโลกมากกว่า 700 ล้านคน ไม่มีน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภค และประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตามความต้องการ
สำหรับด้านอาหารนั้นประชากรที่เพิ่มขึ้นย่อมต้องการอาหารบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายที่จะผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยประชากรในยุโรปและอเมริกาเหนือบริโภคอาหาร 900 กิโลกรัม/คน/ปี ประชากรในแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริโภคอาหาร 460 กิโลกรัม/คน/ปี ถ้ามนุษย์บริโภคอาหารเฉลี่ย 500 กิโลกรัม/คน/ปี ประชากร 7,500 ล้านคนจะต้องการอาหารประมาณ 3,750 ล้านตัน/ปี (3,750,000 กิโลกรัม/ปี)
นอกเหนือจากนี้โลกยังต้องการพลังงานเพิ่ม เกิดขยะและของเสียเพิ่ม การอยู่รอดในโลกอนาคตจึงเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งดร.วศินได้เสนอแนะว่า ” มหาสมุทร…เป็นแหล่งทรัพยากรแหล่งสุดท้ายของโลก” เป็นแหล่งทรัพยากรที่น่าจะใช้ได้ไม่มีวันหมด…ดร.วศินชี้ว่า ปัจจุบัน60% ของประชากรมนุษย์ อาศัยอยู่ในเขต 100 กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลอยู่แล้วและ ปัจจัยในการดำรงชีวิตที่สำคัญ ๆ มาจากทะเลและมหาสมุทร อาทิ 50-70% ของปริมาณก๊าซออกซิเจนในโลกมาจากมหาสมุทร การเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด ไม่จำกัดฤดูกาล เป็นแหล่งอาหาร แหล่งโปรตีนที่สำคัญสำหรับผู้คนมากกว่า 1,000 ล้านคนอยู่แล้วในปัจจุบันและการทำประมงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คนในโลกมากกว่า 200 ล้านคนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมหาสมุทรยังจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ดีประชากรทั่วโลกจำเป็นต้องช่วยกันดูแลรักษาทะเลและมหาสมุทรเพิ่มขึ้น เพราะกิจกรรมของมนุษย์ทุกวันนี้ทำร้ายทะเลและทรัพยากรในทะเลอย่างหนัก ซึ่งมีข้อมูลมากมายที่ประชากรต้องตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหา เช่น กว่า 40 % ของมหาสมุทร กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งจากการประมง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง ของเสียจากการเดินเรือ มีขยะพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้น น้ำหนักกว่า 250,000 ตันปนเปื้อนอยู่ในทะเล มีถุงพลาสติกที่มนุษย์ผลิตและนำมาใช้กลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลในการจัดการ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีพื้นที่เพียง 3.4 % ของทะเลและมหาสมุทรที่มีการดูแลปกป้อง และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม 90%ของปลาทะเลที่มีขนาดใหญ่ กำลังสูญหายไปจากการทำการประมงเกินขนาด หรือเราจับปลาออกจากทะเลมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะผลิตคืนได้ทัน ยกตัวอย่าง ฉลามถูกฆ่ากว่า 100 ล้านตัวต่อปี เพราะมนุษย์ต้องการบริโภคครีบของมัน เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันแก้อย่างจริงจัง