คลินิกSMEสัญจรฯอุบลฯ-มุกดาหาร
หนุนSMEเข้มแข็งรองรับEWEC
กระทรวงอุตสาหกรรม บุกจังหวัดอุบลราชธานีและมุกดาหาร หนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทย-สปป.ลาว ตอบรับนโยบายรัฐบาล จับมือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.-SME Development bank) และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้าสานต่อ “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 5 เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ แนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เชื่อมโยงเพื่อนบ้านเช่น สปป.ลาว ที่เซ็นต์ MOU แล้วและส่งเสริมการค้าชายแดน ชูมุกดาหาร “ท่าเรือบก” ประตูตะวันออกสู่อาเซียน ช่วยสนับสนุนทุกกลุ่ม ทั้งด้านแหล่งทุน การต่อยอดธุรกิจให้เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจขนาดจิ๋วและผู้ประกอบการทั่วไป
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 5 พร้อมกล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง
สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมโยงการค้าไทย–ลาว และเวียดนาม ที่มีความสำคัญในฐานะประตูเส้นทางการค้าเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ที่สามารถออกไปสู่ด้านตะวันออกทะเลจีนใต้ เมืองท่าดานัง เวียดนาม และไปสู่มหาสมุทรอินเดีย
เส้นทางดังกล่าว ยังเชื่อมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 แห่ง ใน 4 ประเทศ คือ 1. เมียนมา (เมาะละแหม่ง ผาอัน เมียวดี) 2. ไทย (แม่สอด มุกดาหาร) 3. ลาว (สะหวันนะเขต แดนสะหวัน) 4. (ลาวบาว กวางตริ ดานัง) รวมทั้งการเชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ อีกกว่าครึ่งโลก ซึ่งล่าสุดทาง สปป.ลาวเองได้มีการตื่นตัวและให้ความสำคัญและก่อตั้งโซนอุตสาหกรรม “สะหวันปาร์ค” ขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก EWEC ที่รัฐบาลลาวได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ และการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน
ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้จึงได้ทำการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สานความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดมุ่งหมายให้หน่วยงานส่งเสริมเอสเอ็มอีของทั้งสองประเทศได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ผลักดันการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ การส่งเสริมการตลาดและช่องทางการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป การส่งเสริมช่องทางการค้าการลงทุน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกิจ เช่น Digital Marketing และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของทั้ง 2 ประเทศ
สำหรับจังหวัดมุกดาหาร รัฐบาลเล็งเป้าในการผลักดันให้เป็น “ท่าเรือบก” ประตูตะวันออกสู่อาเซียน เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรม 5 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตรและกิจการที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโลจิสติกส์ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสการขยายตัว และใช้ประโยชน์จากท่าเรือบกขยายตลาดไปยัง สปป.ลาว- เวียดนาม และจีน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ไทย-สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันกว่า 65,000 ล้านบาท ขยายตัว 0.35% โดยมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย – สปป.ลาว คิดเป็นสัดส่วนถึง 97% ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของทั้งสองประเทศ เฉพาะจังหวัดมุกดาหารมีมูลค่าการค้าสูงถึง 20,000 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าทางการค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปประกอบเป็นสินค้า เช่น โทรศัพท์ ในโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ที่ไทยไปลงทุน
ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร “เมืองการค้าการเกษตร การท่องเที่ยวชายโขง เชื่อมโยงอาเซียน” กระทรวงฯ จึงได้ให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยเครื่องมือในการต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ SMART SMEs การเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ และการบริการผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังให้การช่วยเหลือด้านมาตรการการเงินในรูปแบบสินเชื่อกองทุนต่าง ๆรวม 38,000 ล้านบาท ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาสินค้า และกำลังการผลิตที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 9,178 ราย วงเงิน 23,932 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,439 ราย ในวงเงิน 6,977.28 ล้านบาท
สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 5 ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (มุกดาหาร สกลนคร นครพนม) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี) โดยขณะนี้มีผู้ขอความยื่นคำขอรับความช่วยเหลือเข้ามาแล้ว จำนวน 1,481 ราย วงเงิน 4,030.36 ล้านบาท และได้อนุมัติรวมทุกกองทุนไปแล้ว จำนวน 381 ราย วงเงิน 1,298.62 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358