พม.เปิดฝึกอบรมทักษะให้คำปรึกษา
อาสาสมัครหญิงไทยต่างแดน
รมว.พม. เป็นประธานพิธีเปิดอบรมเสริมทักษะการให้คำปรึกษาแก่อาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ พร้อมมอบนโยบายส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ มีอาสาสมัครหญิงไทยต่างแดนเข้าร่วมจำนวนมาก หนุนนโยบายนายกรัฐมนตรีที่มุ่งให้ส่วนราชการส่งเสริมคนไทยช่วยเหลือกันในต่างแดน ช่วยให้ปรับตัวใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ตลอดจนทำประโยชน์ สร้างชื่อเสียงแก่ประเทศชาติ ย้ำพม.ดูแลตั้งแต่ก่อนไปจนถึงกลับบ้าน นับจากจัดอบรมให้ความรู้ก่อนไป ในต่างแดนกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค) ยังร่วมองค์กรภาคเอกชนสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน ตั้งอยู่ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ อีกทั้งมีช่องทางสื่อสารโทรจากประเทศ (หมายเลข +66 99 130 1300)หรือแอปพลิเคชั่นไลน์ hotline 1300 และช่วยประสานกรมการกงสุลเมื่อต้องการกลับไทย
นายณรงค์ คงคำ โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเพื่อเสริมทักษะการให้คำปรึกษาแก่อาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ พร้อมมอบนโยบายด้านการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะการให้คำปรึกษา เป็นที่พึ่งพา และช่วยบรรเทาปัญหาในเบื้องต้น การขยายเครือข่าย และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ระหว่างเครือข่ายประเทศต่างๆ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมฯ ประกอบด้วย อาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศ จากประเทศฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวีเดน สหรัฐอเมริกา ดูไบ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ผู้แทนกรม การกงสุลประเทศญี่ปุ่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งสิ้นประมาณ 70 คน ณ ห้องปิ่นเกล้า ชั้น 3 โรงแรม เอส.ดี. อเวนิว กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้ให้ความสำคัญกับคนไทยทุกคน โดยกล่าวไว้ว่า ขอให้ทุกส่วนราชการส่งเสริมสนับสนุนให้คนไทยที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ รวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันทำประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีความสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือประชาชนคนไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค) ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัญหาของคนไทยในต่างประเทศ พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความแตกต่างในระบบการศึกษา การไม่เข้าใจภาษา ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น จึงทำให้เกิดปัญหาในด้านการปรับตัว กลายเป็นความไม่เข้าใจกันทางวัฒนธรรม เมื่อติดต่อสื่อสารกับสังคมไม่ได้ จึงต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา
อีกทั้ง ยังขาดความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิ และหน้าที่ที่พึงมีต่อประเทศที่ตนเองพำนักอยู่ จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว ตนจึงมอบนโยบายในการสร้างระบบแบบแผนและทิศทางในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งให้ทุกกรมบูรณาการการทำงานร่วมกันในกระทรวง เพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ มีศูนย์ส่งเสริมและประสานการพัฒนาสังคมสำหรับคนไทยในต่างประเทศ (ศส.ตปท.) ภายใต้แนวคิด “พม.ห่วงใย ดูแลคนไทยทั่วทุกมุมโลก” โดยมีบทบาทในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมสำหรับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ขณะนี้ ได้ดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ ปี 2560 และกำลังร่วมกันจัดทำแผนในปี 2561
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับระบบการพัฒนางานด้านคนไทยและหญิงไทยก่อนไปต่างประเทศของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีดังนี้ 1) ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ ได้มีการจัดอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปต่างประเทศ กว่า 300 คน โดยใช้หลักสูตรบันได้ 5 ขั้น ของกระทรวงฯ ควบคู่กับการจัดทำสารคดีทางโทรทัศน์เกี่ยวกับเครือข่ายหญิงไทย และเผยแพร่มุมมองการใช้ชีวิตในต่างแดน และมีเว็บไซต์ yingthai.net และ Application Yingthai ที่เป็นแหล่งให้ความรู้และแจ้งขอความช่วยเหลือ และการเตรียมความพร้อมเรื่องเด็กติดมารดาก่อนไปต่างประเทศ
2) เมื่อใช้ชีวิตในต่างประเทศ กระทรวงฯ ได้สร้างเครือข่ายการช่วยเหลือในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สค. กับองค์กรภาคเอกชน เช่น Thai Community Development Center, Thai Health and Information Services และ The Thai Muslim Community of USA เป็นต้น และการประสานให้ข้อมูลส่งต่อทำเนียบเครือข่ายหญิงไทยในต่างประเทศ ของ สค. ให้กับ 1300 เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือ และสามารถโทรจากประเทศ (หมายเลข +66 99 130 1300) และติดต่อทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ชื่อว่า hotline 1300 และที่สำคัญคืออาสาสมัครหญิงไทยในต่างประเทศทุกคน ที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาในเบื้องต้น
และ 3) เมื่อต้องการกลับมาประเทศไทย กระทรวงฯ พร้อมประสานกับกรมการกงสุล ที่จะให้ความช่วยเหลือเพื่อให้การกลับมาเมืองไทย และช่วยเหลือด้านการพัฒนาอาชีพ ซึ่ง สค. มีศูนย์พัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่งในภูมิภาค รวมถึง คลินิกสะใภ้ไทยเขยฝรั่ง ที่เป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ความเสี่ยงจากการสมรสข้ามวัฒนธรรม การเตรียมตัวก่อนการสมรสกับชาวต่างชาติ การการใช้ชีวิตหลังการสมรสข้ามวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางการให้บริการปรึกษา รวมทั้ง การช่วยเหลือกรณีประสบปัญหาต่างๆในการใช้ชีวิตอยู่ร่วม กับชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นทั้งกลไกการเตรียมตัวก่อนไป และเมื่อกลับมายังภูมิลำเนา
“ทั้งนี้ จากการดำเนินงานข้างต้น เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการจัดสวัสดิการสังคมให้กับคนไทยในต่างประเทศ โดยมุ่งหวังพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไทยทุกกลุ่มได้รับสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการฝึกอบรมฯในครั้งนี้ จะทำให้ทุกท่านได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มาก และได้มีโอกาสในการฝึกฝนเพื่อให้เกิดทักษะ เกิดความเข้าใจ ในหลักวิธีการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประสบปัญหาอย่างถ่องแท้ และทำให้สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้กับตนเองและสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนครอบครัวของเราในต่างแดน การเป็นบุคคลที่มีจิตใจเป็นอาสาสมัครที่ดี จะทำให้ท่านเกิดความสุขทางใจ และได้บุญกุศลจากการช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวในตอนท้าย