นาโนเทค-ไอแทป สวทช.-สธ.
หนุนใช้นาโนเทคพัฒนาสมุนไพร
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP:ไอแทป) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดสัมมนา “การสร้างตลาดอุตสาหกรรมสมุนไพร (Local Wisdom to Global Value)” ภายใต้ “โครงการ NANOVATION ดึงนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าสมุนไพรไทย สร้างตลาดสารสกัดให้กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยนาโนเทคโนโลยี” นักวิชาการสกว.หนุนผลักดันสมุนไพรคู่ “อาหาร” ที่เป็นจุดแข็งของไทย ออกสู่ตลาดโลก และสารสกัดสมุนไพรเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานสัมมนาการสร้างตลาดอุตสาหกรรมสมุนไพร หรือ Local Wisdom to Global Value เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การสร้างตลาดสารสกัดให้กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยนาโนเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจและโครงการเมืองสมุนไพรกลุ่มจังหวัด ซึ่งผู้ดำเนินงานหลักคือ สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP:ไอแทป) เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ร่วมแก้ไขปัญหาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและพัฒนามาใช้กับภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจากสมุนไพร
โดยได้เสนอแผนงานที่สำคัญในการเร่งรัดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วนคือ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสู่การแข่งขันในตลาดโลก ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาพืชสมุนไพรไทยให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร ตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 โดยมุ่งเน้น 4 สมุนไพรหลัก ได้แก่ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพล”
“นาโนเทค สวทช. จะร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีความเป็นเลิศในด้านเครื่องสำอางและสมุนไพร สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมสำหรับสินค้าเครื่องสำอางและเวชสำอางที่ได้จากสารสกัดสมุนไพรไทยโดยใช้นาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ได้แก่ การสกัดสารออกฤทธิ์ การพัฒนาอนุภาคนาโน การพัฒนาสูตรตำรับ รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบสารออกฤทธิ์ โดยมุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวและย้อนวัย เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมตลาดของสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนในประเทศ สร้างโอกาสและรายได้ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ปี พ.ศ. 2559 พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้และส่งออกสมุนไพรไทยโดยรวมกว่า 240,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นกลุ่มเครื่องสำอาง 140,000 ล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 80,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์สปา 10,000 ล้านบาท และยาแผนโบราณและแพทย์แผนไทย 10,000 ล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมสมุนไพรในประเทศโดยเฉพาะ SME จึงต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคและสภาพการแข่งขันในตลาดเพื่อความอยู่รอด โดยหันมาผลิตสินค้าที่มีเอกลักษณ์ โดดเด่นและแตกต่างจากสินค้าในท้องตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสินค้าของโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่ได้เปรียบทั้งแง่ต้นทุนและการตลาด โดยเน้นตลาดเฉพาะเจาะจงหรือนิชมาร์เก็ตให้มากขึ้น”
ด้านคุณ รัชกฤช คล่องพยาบาล ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ซึ่งดูแลโครงการผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ของสกว.ในหมวดอาหารกล่าวว่า ภาพรวมตลาดสมุนไพรโลกมีการเติบโต โดยในปี 2559 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลกอยู่ที่ 36.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีจีน สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นผู้นำตลาดมีการเติบโตสูงระหวางปี 2554-2559 ส่วนตลาดสมุนไพรในเอเชีย-แปซิฟิก มีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีเดียวกัน ขณะที่ไทยถือได้ว่า มีการเติบโตมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยมีการเติบโต68% รองลงมาได้แก่ จีนที่มีการเติบโต 57%
ส่วนการจะก้าวสู่ตลาดโลกนั้นแม้จะสู้จีน อินเดีย ไม่ได้เพราะเป็นประเทศที่มีการใช้สมุนไพรมานานประมาณ 4,000 ปี แต่ไทยสามารถไปได้โดยอาศัยจุดแข็งด้าน “อาหาร” นั่นคือ จะต้องผลักดันสมุนไพรควบคู่ไปกับด้านอาหารและด้านเครื่องสำอาง ซึ่งอยู่ในรูปสารสกัดสมุนไพรเพื่อใช้ในเครื่องสำอาง
ฝ่ายดร.สัญชัย เอกธวัชชัย ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า สำหรับการเลือกผลักดันสมุนไพร 4 ชนิดเป็นการนำร่องก่อน คือ บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำ และไพลนั้นเป็นผลจากการคัดเลือกของหลายภาคส่วนที่นำเสนอและมีความเห็นตรงกันในด้านแหล่งปลูก การประยุกต์ใช้ การนำมาใช้ประโยชน์ การวิจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและอื่น ๆ แต่สมุนไพรที่ตลาดต้องการมีอยู่มากถึง 300 ชนิด
ทั้งนี้ภายในงานสัมมนา นอกจากมีการให้ความรู้ถึงแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 แนวโน้มและศักยภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย การวิเคราะห์ Big Data เพื่อเจาะลึกและสร้างโอกาสทางการตลาดสมุนไพร การเสวนาโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมสมุนไพร และนาโนเทคโนโลยีกับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญแล้ว นาโนเทค และโปรแกรม ITAP ยังมีการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วม “โครงการสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์” และรับโจทย์ความต้องการจากผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 300 คนจากกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร ยาแผนโบราณ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่ใช้นาโนเทคโนโลยีด้วย
ดร.สัญชัยกล่าวต่อว่า โครงการผลักดันสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์ในขณะนี้อยู่ในระยะที่ 1 ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนกรกฏาคม-กันยายน โดยจะมีการรับสมัคร คัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมก่อน 15 ราย เพื่ออบรมให้ความรู้โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อบรมด้านการตลาด การปลูกและอื่น ๆ รวมถึงสนับสนุนขั้นตอนการจดทะเบียนอย. การพาไปโรดโชว์ต่างประเทศ ซึ่งเล็งเพื่อนบ้านใกล้ ๆ CLMV ทั้งนี้ตั้งเป้าไว้ว่า ภายในเดือนมีนาคม 2561 จะต้องมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้