สจล. นำร่องรับน้องยุคใหม่
“ไม่กดดัน-ไม่ใช้ความรุนแรง”
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จุดกระแสการรับน้องยุคใหม่เน้นกิจกรรมสร้างสรรค์ “ไม่กดดัน” และ “ไม่ใช้ความรุนแรง” หวังเป็นต้นแบบการยกระดับกิจกรรมรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัย โดยเน้นการสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ลบภาพความโหดร้ายการรับน้องยุคเก่าให้หมดไป พร้อมชูกิจกรรม “รับน้องรถไฟ” สานต่อตำนาน 27 ปี ประเพณีสุดคลาสสิค สื่อถึงเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของสถาบันการศึกษาไทย ที่มีรางรถไฟพาดผ่านกลางสถาบันและมีสถานีรถไฟตั้งอยู่ภายในถึง 2 สถานี คือ “สถานีพระจอมเกล้า” และ “สถานีหัวตะเข้” ตอกย้ำความสำคัญการเดินทางด้วยระบบรางตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อันเป็นข้อได้เปรียบในด้านการเรียนการสอน ในการฝึกเรียนรู้จากการปฏิบัติงานภาคสนามกับของจริง โดยเฉพาะในหลักสูตร “วิศวกรรมขนส่งทางราง” ที่ได้ทำการเปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยพัฒนาการเดินทาง การขนส่ง และเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน
นายเอกกมล กรรณิกา หรือ “โดด” นักศึกษาสาขาพัฒนาการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร และนายกองค์การนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า กิจกรรมรับน้องรถไฟซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยของโครง “ก้าวแรก” หรือ “First Step” เป็นกิจกรรมที่สานต่อรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานกว่า 27 ปี เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนใหม่ ก่อนเปิดเรียน เพื่อให้นักศึกษาใหม่ทุกคนได้ทำความรู้จักและปรับตัวสู่สังคมใหม่ๆ ผ่านกิจกรรมสันทนาการที่เน้นการสร้างความสนุกสนาน รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ โดยปราศจากการบังคับ กดดัน หรือใช้ความรุนแรง อันเป็นภาพลบและติดตาของคนทั่วไปในสังคมไทย เนื่องจากองค์การนักศึกษาฯ เล็งเห็นถึงสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากรุ่นพี่ไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการรับน้องด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์ แต่ยังยึดติดกับการสร้างความกดดันและใช้ความรุนแรง อาจสร้างปัญหาตามมาอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ หรืออาจรุนแรงถึงขึ้นสูญเสียชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ขณะเดียวกันกิจกรรมรับน้องรถไฟยังเป็นการสะท้อนถึงเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถาบันฯ ที่มีสถานีและรางรถไฟพาดผ่านกึ่งกลาง และเพื่อย้อนลำลึกถึงอดีตที่การเดินทางด้วยรถไฟ ซึ่งถือเป็นการคมนาคมที่สะดวกที่สุดด้วย การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงได้ประโยชน์สองต่อ ทั้งการทำความรู้จักกับคนและสถานที่ใหม่ๆ และในขณะเดียวกันยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีการรับน้องรถไฟ ให้คงอยู่คู่กับ สจล. สืบไปด้วย
“กิจกรรมรับน้องรถไฟเกิดจากความตั้งใจของรุ่นพี่ทุกคน ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อต้อนรับน้องใหม่สู่รั้ว สจล. อย่างอบอุ่น ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่ได้เน้นการสันทนาการเพียงอย่างเดียว เพราะน้องเฟรชชี่ปี 1 ที่เข้าร่วมทุกคน จะได้รับการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถาบัน เพื่อให้รู้สึกถึงความภาคภูมิใจและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรักและความหวงแหนในสถาบัน มีความสนุกสนานสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งได้รับคำแนะนำการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยจากรุ่นพี่คณะต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลา 4 ปี” นายกองค์การนักศึกษา สจล. กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวเสริมว่า กิจกรรมรับน้องรถไฟของ สจล. ถือเป็นหนึ่งในต้นแบบกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์ ที่รุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถนำไปเป็นต้นแบบการจัดกิจกรรม ในคณะหรือมหาวิทยาลัยของตนได้ ซึ่งข้อดีของการรับน้องใหม่ด้วยกิจกรรมในลักษณะนี้ ไม่เพียงสร้างความประทับใจให้กับรุ่นน้องเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึงความรัก และความหวังดีที่รุ่นพี่มอบให้น้องๆ ผ่านการพูดคุยแนะนำการใช้ชีวิตจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากชีวิตในสมัยมัธยมศึกษา ทั้งในเรื่องของเวลา รูปแบบการเรียน และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บ่อยครั้งที่พบว่าเด็กที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ในระยะยาวมักส่งผลกระทบต่อการผลเรียน
นอกจากประโยชน์จากการทำกิจกรรมรับน้องรถไฟที่กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น อีกด้านหนึ่งในช่วงที่ประเทศกำลังมุ่งหน้าพัฒนาระบบขนส่งให้ทัดเทียมนานาชาติ การหยิบยกประเด็นการคมนาคมและการเดินทางด้วยรถไฟ ยังสะท้อนถึงความสำคัญของระบบขนส่งทางรางด้วย โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟไทยไปสู่โครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน โดยในส่วนของ สจล. ได้เปิดสอนหลักสูตร “วิศวกรรมขนส่งทางราง” มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อผลิตบุคลากรรองรับความต้องการ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ พัฒนารายวิชาแม่แบบของวิศวกรรมขนส่งทางราง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การออกแบบ การควบคุม การซ่อมบำรุง การวางแผนงานระบบขนส่งทางราง ซึ่งใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ความปลอดภัยของการเดินรถไฟและรางรถไฟ รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมขนส่งระบบรถไฟความเร็วสูงด้วย ซึ่งที่ตั้งของ สจล. ที่มีรางรถไฟตัดผ่านกลางสถาบันและมีสถานีรถไฟภายในสถาบันถึง 2 สถานี ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติงานภาคสนามของจริง
“สจล. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักศึกษา ตั้งแต่ก้าวแรกของการเข้ามาสู่รั้วสถาบัน การรับน้องรถไฟไม่ใช่กิจกรรมที่จัดขึ้นเพียงเพื่อความสนุกสนาน แต่ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างพี่น้องร่วมสถาบัน ที่ในอนาคตจะแปรเปลี่ยนเป็นคอนเนคชั่นและเป็นประโยชน์ ทั้งต่อการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าและการทำงาน เพราะพี่น้องรั้วแคแสดจะกลายเป็นเครือข่ายบุคลากรคุณภาพ ที่จะช่วยกันยกระดับบ้านเมืองของเราให้เจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาประเทศด้วยความรู้และความสามารถ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านอื่นๆ ที่ประเทศชาติต้องการ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
สำหรับกิจกรรม “รับน้องรถไฟ” ในปีการศึกษา 2560 จัดขึ้นภายใต้ธีม War Of Olympus (สงครามเทพเจ้า) สื่อถึงจิตนาการและพลังสร้างสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่ ที่มีความสามารถในการนำเอาความสนุกสนาน มาสอดแทรกเป็นกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและพื้นที่แห่งการทำความรู้จัก ซึ่งในปีนี้มีน้องใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นศิษย์พระจอมเกล้าลาดกระบัง มากกว่า 5,000 คน โดยตลอดระยะเวลา 55 นาที จากสถานีหัวลำโพงถึงสถานีพระจอมเกล้า เฟรชชี่ปี 1 ทุกคนจะได้พูดคุยทำความรู้จักรุ่นพี่ และร่วมทำกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์กันเป็นครั้งแรก เป็นภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน และอบอุ่นในแบบของเด็กพระจอมเกล้าลาดกระบัง อันเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องรั้วแคแสด
นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th