วสท.จัดงานวิศวกรรมแห่งชาติพ.ย.
พร้อมยกระดับสู่ Engineering 4.0
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ฉลอง 74 ปีของการก่อตั้ง เตรียมจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560″ (National Engineering 2017) งานแสดงผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด วิศวกรรม 4.0 หรือ Engineering 4.0 กำหนดระหว่าง 16 – 18 พ.ย. 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เชิญ 4 กูรูเปิดเวทีเสวนาเรื่อง “อนาคต Thailand 4.0 ภายใต้การลงทุน EEC สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S curve)” เปิดมุมมองของการลงทุนและพัฒนาในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุนรวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเปรียบเสมือน “สปริงบอร์ด” สู่ไทยแลนด์ 4.0 และโอกาสของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า เมกะเทรนด์ของโลกกำลังมีการปฏิรูปพัฒนาอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เนื่องจากกระแสดิจิตอล ระบบคลาวด์ออโตเมชั่น IoT และเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมโยงเครื่องจักร หุ่นยนต์ ไลน์การผลิตและโรงงานเข้าเป็นหนึ่งเดียวที่สื่อสารกันได้ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน ประเทศไทยมุ่งพัฒนาสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ ในด้านวิศวกรรมซึ่งผสมผสานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายสาขาก็เช่นกัน จะต้องยกระดับเป็น “Engineering 4.0” คนไทยต่างต้องเรียนรู้ ปรับตัวและเตรียมพร้อม เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แสวงหาโอกาสและโมเดลทำธุรกิจใหม่ๆที่ตอบโจทย์ตลาดผู้บริโภค และไลฟ์สไตล์ชีวิตประจำวันที่สะดวกและปลอดภัย จึงเป็นที่มาของการจัด งานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 ภายใต้แนวคิด วิศวกรรม 4.0 หรือEngineering 4.0 ในวันที่ 16-18 พ.ย. นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อส่งเสริมวิศวกรไทยและคนไทยทุกเพศวัยให้ตื่นตัวก้าวไปกับวิถีไทยแลนด์ 4.0 เสริมศักยภาพวิศวกรไทยและโอกาสของสตาร์ทอัพให้เติบโต ทั้งในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมและกฎระเบียบต่างๆ เปิดโลกอนาคตสำหรับเยาวชน ประชาชนและครอบครัวยุคใหม่ที่ทันสมัย ปลอดภัยและมีความสุข
คุณทศพร ศรีเอี่ยม ประธานการจัดงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 เผยว่า งาน “วิศวกรรมแห่งชาติ 2560” (National Engineering 2017) ภายใต้แนวคิด วิศวกรรม 4.0 (ENGINEERING 4.0) นับเป็นปีที่พิเศษ เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมเปลี่ยนโลกและการเชื่อมต่อเครือข่ายที่จะตอบสนอง Industry 4.0 และ Thailand 4.0 พบกับผลิตภัณฑ์และบริการที่โดดเด่นจากองค์กรและบริษัทที่มีชื่อเสียงของไทยและต่างประเทศ เรียนรู้ไปกับนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะช่วยพัฒนาการบริหารจัดการและการผลิตสำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับ สนุกกับสาระความรู้สำหรับเยาวชน ประชาชนและวิศวกรไทย
ด้านกิจกรรมหลักภายในงาน ประกอบด้วย เวทีมุมมองความคิดใหม่ๆสำหรับวิศวกรและผู้สนใจ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น การออกแบบวิศวกรรมในกระแส IoT : Internet of Things, อุตสาหกรรม 4.0, การขนส่ง 4.0, รหัสต้นทุนงานอาคาร (Cost Code for BIM), มาตรฐานการทำงานระบบ BIM, รวมพลคนตรวจสอบความปลอดภัยครั้งที่ 2, อินเตอร์เน็ตออฟธิงค์สำหรับสมาร์ทซิตี้, Digital technology for SME 4.0 เป็นต้น สำหรับครอบครัวและประชาชนทั่วไป ยังสามารถเข้ามาเรียนรู้นวัตกรรมใหม่สำหรับบ้านทันสมัยยุค 4.0 เพื่อความสุข สะดวกสบาย ประหยัดพลังงานและความปลอดภัยไร้กังวล อีกทั้งยังเปิดบริการฟรี “คลินิกช่าง” ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบ้านและปัญหาทางวิศวกรรมต่าง ๆ โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา
อีกหนึ่งความพิเศษของการจัดงานในปีนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ได้รับเกียรติจากสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน (AFEO) ให้เป็นเจ้าภาพในนามประเทศไทยจัดงานประชุมนานาชาติสมาพันธ์วิศวกรรมแห่งอาเซียน หรือ CAFEO ครั้งที่ 35(Conference of the ASEAN Federation of Engineering Organizations) ภายใต้ธีม “การบริหารจัดการพลังงาน” ซึ่งจะจัดคู่ขนานกับงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2560 โดยมีผู้นำองค์กร ผู้บริหารและวิศวกรกว่า 1,500 คน จาก 10 ประเทศในอาเซียนเดินทางมาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ
ภายในงานแถลงข่าวมีเวทีเสวนา เรื่อง “อนาคต Thailand 4.0 ภายใต้การลงทุน EEC สำหรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S curve)” โดยได้รับเกียรติจากผู้เปี่ยมด้วยประสบการณ์ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)และคณะทำงานสนับสนุนโครงการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)กล่าวถึงภาพรวมของโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC รัฐบาลได้ประกาศเมื่อต้นปี 2560 โดยเป็นแผนยุทธศาสตร์ประเทศภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายยกระดับพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัดให้กลายเป็น “World-Class Economic Zone” รองรับการลงทุนอุตสาหกรรม Super Cluster และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอีก 20 ปีข้างหน้า มีเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นแม่เหล็กหรือสปริงบอร์ดในการขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0
โดยมีโครงการลงทุนใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา, การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, โครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา), การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไฮเทค และการพัฒนา 3 เมืองใหม่ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มุ่งยกระดับเมือง ชุมชน คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมสู่ระดับมาตรฐานสากล
ด้าน คุณดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ตอกย้ำความสำคัญของประเทศไทยที่จะพัฒนาสู่ศูนย์กลางการบิน การซ่อมบำรุง การผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน และการเฃื่อมต่อสู่คมนาคม EEC เพื่อสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและการเชื่อมต่อโลก ส่วน คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและข้อเสนอแนะแนวทางการลงทุนและพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) รวมถึงปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ให้พร้อมที่รองรับการค้าและการลงทุนให้เกิดความสำเร็จ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย First S-curve ต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ New S-curve การเติม 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิตอล 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นการลงทุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างแท้จริง
ด้าน ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เสนอแนวทางการเตรียมพร้อมวิศวกรไทยและภาคการศึกษาที่จะพัฒนาหลักสูตรผลิตคนรุ่นใหม่เพื่อให้สอดรับกับวิทยาการใหม่ๆ ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ตลอดจนความร่วมมือพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเตรียมพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไปด้วยกัน