กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation ) หรือ EECi กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อพัฒนาพื้นที่ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับการศึกษา ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมี ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. และ ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม
เป็นที่ทราบกันดีว่ากุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน EECi เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่มุ่งพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ที่สมบูรณ์บนพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ โรงงานต้นแบบที่ส่งเสริมและเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและภาครัฐ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำเทคโนโลยี นวัตกรรม มาช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต นำไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก
ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สวทช.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทย์ฯ ในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi กับพันธมิตรที่เป็นภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 61 หน่วยงาน ได้มีการหารือประชุมร่วมกันเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการจัดตั้ง EECi (Feasibility Study) และลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชุมชนที่เห็นประโยชน์ของ EECi ที่จะมาพัฒนาพื้นที่และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ สวทช. ยังได้หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการไทย โดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในด้านการพัฒนากำลังคนด้าน S&T เสริมทัพความแข็งแกร่ง ในส่วนที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านนี้เป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือครั้งนี้ทางสภาอุตสาหกรรมก็จะดึงกลุ่มเอสเอ็มอี เข้ามากำหนดโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่งประเทศไทย 4.0 ได้เร็วและตรงเป้าหมายมากขึ้น
ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาอุตฯ ต้องการพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี ที่ผ่านมาสภาอุตาหกรรมทำงานส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานวิจัยภาครัฐ และมหาวิทยาลัย และการจัดอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี เชื่อว่าการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนา EECi ครั้งนี้ จะเป็นการสะท้อนมุมมอง รวมถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การพัฒนา EECi ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในที่สุด
“ปัจจุบันการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สูงขึ้นพอสมควร แต่สภาอุตสาหกรรมได้ข้อมูลจาก สวทน. พบว่ากลุ่มเอสเอ็มอี ไม่ลงทุนด้านการวิจัยเพราะไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ ปัญหาหนึ่งคือการเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมทั้งบุคลากรวิจัยที่ยังมีไม่เพียงพอ จึงทำให้การลงทุนค่อนข้างช้า ดังนั้นการลงทุนด้านการวิจัยในพื้นที่ EECi จะเป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่อเร่งการลงทุนวิจัยในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้เร็วและเพิ่มขึ้น โดยต้องดึงกลุ่มเอสเอ็มอี ที่สภาอุตสาหกรรมมีอยู่จำนวนมากเข้ามาร่วมด้วยเพื่อขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้ ปัจจุบันการลงทุนอยู่ที่ 0.7 เปอร์เซนต์ของจีดีพี หากไม่มีเอสเอ็มอีเข้ามามีส่วนร่วมอาจไปไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์แน่นอน” รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวเสริมว่า มจพ. มุ่งที่จะพัฒนาคนให้มีความเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเข้าร่วมกับ EECi ครั้งนี้ จะช่วยให้ มจพ.เห็นทิศทางและเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนากำลังคน รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อเสริมทัพพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและยกระดับอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทาง มจพ. มีวิทยาเขตอยู่ที่จังหวัดระยอง ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกับ EECi นั้น มีจำนวนประมาณ 1 แสนอัตรา ที่จะเข้ามารองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นความต้องการของรัฐบาล และอุตสาหกรรมในพื้นที่ EECi
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกับ สวทช. ครั้งนี้ จะช่วยให้ลดช่องว่างระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันอุดมศึกษา และทำให้งานวิจัยหรือระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่ง มพจ.ผลิตนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก 3 วิทยาเขตได้ 6,000 คนต่อปี เป็นจำนวนที่มั่นใจว่าเพียงพอที่จะรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคต
สำหรับงานนี้จัดให้มีการประชุมระดมสมอง โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) กลุ่ม Automation 2) กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า EV (BMS, EVCU, Charging Station) และ EV Battery และ Energy Storage 3) กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology (Nutrition Food / Prebiotic & Probiotic / Green Biotechnology) 4) กลุ่ม Training เพื่อขับเคลื่อน Industry 4.0 และ 5) กลุ่ม “การพัฒนากำลังคน”
ซึ่งเป็นการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อันจะนำไปสู่แนวทางการทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพเกิดการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่จะผลักดันประเทศไปสู่ Thailand 4.0