บจธ..เดินหน้าประชารัฐ..สู่ธนาคารที่ดิน
โชว์นำร่องแก้ปัญหาที่ทำกิน5ชุมชน
ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาปากท้อง ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยเกือบทุกยุคสมัยนำมาเป็นนโยบายเด่นสำหรับใช้ในการบริหารประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสุข ซึ่งการจัดสรร “ที่ดิน” ให้ เพื่อไว้ทำกิน เป็นแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้ยากไร้และเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินสามารถใช้อยู่อาศัยและประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ แต่เพื่อให้การครอบครองและใช้ประโยชน์จากที่ดินเป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ถูกขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในกรรมสิทธิ์ของเหล่านายทุน และทำให้เกิดปัญหาไร้ที่ดินทำกินกลายเป็นปัญหาวนเวียนมาให้แก้ไขซ้ำซาก “ธนาคารที่ดิน” จึงถูกมองว่าจะมาช่วยตอบโจทย์ดังกล่าวได้ ซึ่งขณะนี้กำลังจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว เมื่อโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่ 5 ชุมชนพื้นที่จ.เชียงใหม่-ลำพูน มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ
สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือบจธ. จัดกิจกรรมเชิงเสวนาในหัวข้อ “เดินหน้าประชารัฐ…สู่ธนาคารที่ดิน” โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชน ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ชุมชนบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน พร้อมมอบหนังสืออนุญาตทำกินแก่ผู้แทน 5 ชุมชน ประกอบด้วย 4 ชุมชนในจ.ลำพูนและ 1 ชุมชนในจ.เชียงใหม่ โดยมี พลเอก วิทยา จินตนานุรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยนายประเดิม เดชายนต์บัญชา นายอำเภอเวียงหนองล่อง ตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน คณะที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ บจธ. หน่วยงานราชการในพื้นที่ เกษตรกรในพื้นที่ 5 ชุมชนนำร่อง และสื่อมวลชนกว่า 15 สำนักเข้าร่วมงาน
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน) หรือบจธ. เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เห็นถึงความสำเร็จในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน ให้ได้มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน และเป็นการเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปได้รับรู้ถึงการดำเนินงานของบจธ.
ทั้งนี้บจธ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฏีกา ในปี 2554 โดยมีภารกิจหลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกรและผู้ไร้ที่ทำกิน บจธ.ได้ดำเนินการศึกษาและทดลองปฏิบัติ เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานให้กับธนาคารที่ดิน โดยมี “โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน” ซึ่งเป็นโครงการที่บจธ. ลงมาให้ความช่วยเหลือประชาชนใน 5 ชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาเป็นเวลานาน ประกอบด้วย 4 ชุมชน ในจ.ลำพูน คือ ชุมชนบ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 (บ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15 ) ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง ,ชุมชนบ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง,ชุมชนบ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง และชุมชนบ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ต.หนองปลาสะวาย อ.บ้านโฮ่งและ อีก 1 ชุมชนในจ.เชียงใหม่ คือ ชุมชนบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
ผลของการดำเนินงานโครงการฯ นี้ จะเป็นแนวทางสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินและยังจะเป็นพื้นฐานสำคัญสู่การดำเนินงานของ “ธนาคารที่ดิน” ในอนาคตด้วยเช่นกัน
ซึ่งหมายความได้ว่า คือ บทบาทในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกิน ไม่เกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือ จนต้องสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินและกลายเป็นบุคคลไร้ที่ดินทำกินให้แก่เหล่านายทุน ดังที่พบเห็นและเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ในปัจจุบันอีกต่อไป
นับเป็นการแก้ปัญหาความยากจนไร้ที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมที่รากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริงและเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย
ผลักดันกันมายาวนาน “ธนาคารที่ดิน”
ทั้งนี้ “โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน” เกิดขึ้นหลังจากเกิดปัญหาขัดแย้งต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินมายาวนานตั้งแต่ปี 2540 ผ่านมาหลายรัฐบาล โดยในปี 2540 เกษตรการไร้ที่ทำกินใน 4 ชุมชนของจ.ลำพูนได้รวมตัวกันและเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมาหลายสิบปี พร้อมกับเรียกร้องขอสิทธิ์ในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้เสนอแนวทางการออกโฉนดชุมชนและการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนเกษตรกรและผู้ไร้ที่ดินทำกินให้มีที่ทำกินเป็นของตนเอง
จนในปี 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีนโยบายให้เร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและมอบสิทธิ์ในที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐในรูปแบบโฉนดชุมชนโดยจัดโฉนดชุมชน 2 แห่ง คือ โฉนดชุมชนสหกรณ์คลองโยง จ.นครปฐมและโฉนดชุมชนสหกรณ์บ้านป่าซาง จ.ลำพูน (จำนวน 2 แปลง) นอกจากนี้ยังออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ.2554 ขึ้น พร้อมกับมีมติให้จัดซื้อที่ดินเพื่อดำเนินการเป็นพื้นที่นำร่องในรูปแบบของธนาคารที่ดิน โดยอนุมัติงบประมาณเป็นเงิน 167,960,00 บาท แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร
กระทั่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการนำร่องธนาคารที่ดินใน 5 ชุมชนดังข้างต้น โดยดำเนินการในรูปแบบให้ชุมชนใช้ที่ดินในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย โดยเกษตรกรมีสิทธิในการครอบครองที่ดินร่วมกันภายในชุมชน เพื่ออยู่อาศัยและทำกินอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดำเนินการ ทว่าเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนผ่านรัฐบาลเสียก่อนจึงไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามมีการสานต่อในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและ ประชาชนผู้ยากจน และการจัดตั้งธนาคารที่ดิน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร บจธ.ขึ้น เพื่อดำเนินการตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พ.ศ. 2554 และแก้ไขเพิ่มเติมโดย มี พลโท ชาญชัย ภู่ทอง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินและมีนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ เป็นผู้อำนวยการบจธ.
นั่นคือ ทำให้โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่ 5 ชุมชนได้แจ้งเกิดตามมา โดยบจธ.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการโครงการนำร่องธนาคารที่ดินฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ขออนุมัติงบประมาณ 167 ล้านบาทจากพอช. มาให้บจธ.ดำเนินการ
บจธ.ซื้อที่ดินจัดสรรให้ “เช่าซื้อ” แก่ชุมชนที่รวมตัวกันในรูป “สหกรณ์”
แนวทางดำเนินการทำโดย บจธ. เข้าเจรจาจัดซื้อที่ดินจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อนำจัดสรรให้แก่ชุมชนที่รวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ไว้ทำในลักษณะของการ “เช่าซื้อ” โดยทุกคนมีสิทธิและรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ เบื้องต้นบจธ.ให้สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินเป็นระยะยาว 30 ปี กำหนดการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิดร้อยละ 3 ต่อปี( แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดอกเบี้ย) จากนั้นสหกรณ์ไปจัดสรรที่ดินต่อแก่สมาชิก ครัวเรือนละ 2-3 ไร่ เพื่อให้ทำกิน
สิทธิทำกินในที่ดินนี้สามารถตกทอดสู่ลูกหลานได้ แต่ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้เพราะกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสหกรณ์ ซึ่งจากจุดนี้จะช่วยป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือไปอยู่ในมือของนายทุน ทำให้ประชาชนและเกษตรกรได้มีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน
โครงการคืบหน้า -ตัวแทน 5 ชุมชนรับมอบหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ชั่วคราว
ที่ผ่านมานับว่า โครงการนำร่องฯมีความคืบหน้าไปมาก โดยทั้ง 5 ชุมชนจัดตั้งเป็นสหกรณ์เรียบร้อยแล้ว โดยมี 4 สหกรณ์ คือ บ้านแพะใต้จัดตั้งเป็นสหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านแพะใต้ จำกัด, บ้านท่ากอม่วง จัดตั้งเป็นสหกรณ์โฉนดชุมชนบ้านท่ากอม่วง จำกัด ,บ้านโป่งจัดตั้งสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน จำกัด และบ้านไร่ดง ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์ของบ้านแม่อาว ใช้ชื่อว่า สหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนบ้านป่าซาง จำกัด
ทั้งนี้บจธ.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อ 690 ล้านบาทสำหรับดำเนินการ และได้จัดซื้อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ไปแล้วทั้งหมดจำนวนประมาณ 809 ไร่ รวม 278 แปลง ทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว 639 ไร่ รวม 153 แปลง ใช้งบประมาณในการจัดซื้อเกือบ 109 ล้านบาท ที่เหลืออีก 170 ไร่ อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยเฉลี่ยราคาที่ดินอยู่ที่ประมาณ 2- 3.5 แสนต่อไร่
ส่วนพื้นที่ในชุมชนบ้านไร่ดงและชุมชนบ้านอาวที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ได้อนุญาตให้สหกรณ์เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ทางบจธ.ยังเป็นหน่วยงานกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้เหมาะกับการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพของชุมชน ให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม และส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รวมถึงการพัฒนาด้านการผลิต การตลาด และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชนด้วย
ล่าสุดบจธ. มอบหนังสืออนุญาตใช้พื้นที่ชั่วคราว ให้แก่ตัวแทนจากทั้ง 5 ชุมชนแล้ว ในการจัดกิจกรรมเชิงเสวนาในหัวข้อ “เดินหน้าประชารัฐ…สู่ธนาคารที่ดิน” โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชน ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านแพะใต้ จ.ลำพูน เมื่อ วันที่ 15 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา สร้างความปลาบปลื้มยินดีแก่เหล่าพี่น้องเกษตรกรและประชาชนในชุมชนไม่น้อย ซึ่งมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ปลายก.ย.ประเมินผล ปูทาง “ธนาคารที่ดิน” แจ้งเกิดได้อย่างสมบูรณ์
นายสมเจตน์ โรจน์พัฒนากุล ผู้อำนวยการจัดการที่ดินรัฐ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการที่ดิน ซึ่งได้ลงพื้นที่พร้อมคณะสื่อมวลชนด้วยนั้น เปิดเผยว่า ในพื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ชุมชนบ้านโป่ง ชุมชนบ้านไร่ดง ชุมชนบ้านแม่อาว ชุมชนบ้านแพะใต้ ชุมชนบ้านท่ากอม่วง กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกลำไย และชะอมไร้หนาม รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์
หลังจากนี้ประมาณปลายเดือนกันยายน 2560 นี้ จะมีการประเมินผล สรุปปัญหา ความสำเร็จของโครงการ การปรับปรุง แก้ไขอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าสู่การดำเนินการธนาคารที่ดินต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ หลังจากพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ที่ออกโดยกระทรวงการคลังผ่านการพิจารณา
อนึ่งตามโรดแม็พของรัฐบาล “ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน” มีกำหนดประกาศใช้ในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 โดยจะออกมาตามหลัง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) ที่จะมาแทน พ.ร.บ. “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ. “ภาษีบำรุงท้องที่” พ.ศ.2508 เดิม ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
นับว่า เป็นแก้ปัญหาที่ดินทำกินของผู้ยากไร้ ไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาคนรวย ซื้อที่ดินกักตุนไว้ แต่ปล่อยทิ้งรกร้างไว้โดยเปล่าประโยชน์ เลยทีเดียว
คงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้ว รัฐบาลจะดัน “ธนาคารที่ดิน” ให้แจ้งเกิดได้สำเร็จหรือไม่ …