“ป่าห้วยเม็ก” อีกบทเรียน
การจัดการป่าภาครัฐ-ชุมชน
จากกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด บริษัทลูกของกระทิงแดง เช่าพื้นที่ป่าสาธารณะห้วยเม็ก ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เนื้อที่รวม 31 ไร่ 2 งาน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ชี้แจงว่า การขออนุญาตเช่าพื้นที่สาธารณะห้วยเม็กเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำนั้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับและขั้นตอนทางกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง ครบถ้วนทุกประการ ต่อมาเมื่อมีชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านการขอเช่าพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ทีมงานของพล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ได้ลงพื้นที่สำรวจป่าห้วยเม็ก พื้นที่พิพาทระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐ-เอกชน เพื่อร่วมต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และพบว่าบริษัทฯ ก่อสร้างโรงงานรุกล้ำที่สาธารณะรวมทั้งปิดกั้นเส้นทางที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน, ทำคันดินกั้นเป็นเขื่อนยาวกว่า 1 กม. ทำให้น้ำขังพื้นที่ป่าชุมชน เป็นเหตุให้ต้นประดู่ตายจำนวนมากซึ่งชาวบ้านหวังให้บริษัทฯ รับผิดชอบปลูกป่าคืน และชาวบ้านได้ปฏิเสธเรื่องการเซ็นชื่อยินยอมในการทำประชาคมตามที่บริษัทฯ ได้กล่าวอ้างพร้อมทั้งได้ไปแจ้งความว่ามีการปลอมแปลงลายเซ็นด้วยแล้ว
ภายหลังโดนกระแสการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างหนัก บริษัทฯ จึงขอยกเลิกโครงการบริหารจัดการน้ำ และใบอนุญาตเช่าพื้นที่สาธารณะห้วยเม็ก ซึ่งทางที่ดินจังหวัดได้ส่งเรื่องมาให้ทางจังหวัดขอนแก่นพิจารณาสั่งยกเลิกตามระเบียบกรมที่ดิน เรื่องการดูแลที่ตามมาตรา 9 การยกเลิกข้อ 34 ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งยกเลิกได้ พร้อมได้เซ็นยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตาม โดยระเบียบของภาครัฐนั้น ก่อนที่จะสิ้นสุดใบอนุญาต บริษัทฯ ต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ขออนุญาตให้มีลักษณะใกล้เคียง กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบ และหากมีการเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินการของผู้ได้รับอนุญาตไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้นๆ ทุกประการ ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องการปรับพื้นผิวเส้นทางสัญจร การปลูกป่าทดแทน และการชดใช้ความเสียหายจากการสร้างคันดินกั้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังและต้นไม้เน่าตายด้วย
จนขณะนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันยื่นขออนุญาตผ่านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชนแล้ว เพื่อชุมชนจะได้ช่วยภาครัฐดูแลรักษาผืนป่าแห่งนี้ด้วยอีกแรง
ทาง ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีพิพาทป่าห้วยเม็กครั้งนี้ว่า “ป่าห้วยเม็ก” ถือเป็นบทเรียนให้กับภาครัฐ เป็นกรณีตัวอย่างเรื่องการใช้อำนาจของภาครัฐ ว่าไม่ควรดำเนินการใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับความรู้สึกของชาวบ้านที่หวงแหนรักษาป่า และเป็นผู้ใช้ประโยชน์ป่าชุมชนมาอย่างยาวนาน รวมทั้งไม่ดำเนินการขัดแย้งกับนโยบายของภาครัฐเองด้วย
และเป็นบทเรียนให้กับชาวบ้านและชุมชนอื่นๆ ให้เล็งเห็นถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการป่าสาธารณะ ชาวบ้านควรร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาในการพิทักษ์รักษาป่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน