ท่องเที่ยวปี 61มั่นใจเสน่ห์ไทยยังแรง
แนะปรับตัว-ดึงอัตลักษณ์-เทคโนฯใช้
ผู้ทรงคุณวุฒิและกูรูท่องเที่ยวร่วมเปิดวิสัยทัศน์ในเวทีเสวนา “ท่องเที่ยวไทยปี 61 จะเดินไปทางใด” ภายในงานเปิดตัว “ Share Thailand to the World – แชร์เมืองไทยให้โลกรู้ – 60 ปีท่องเที่ยวไทย” พ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยวไทยเล่มที่ 28 ของนักเขียน “สาธิตา โสรัสสะ” บล็อกเกอร์สาวที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการท่องเที่ยวมากว่า 30 ปี โดยรวมมองแนวโน้มการท่องเที่ยวไทยบูมต่อเนื่องและยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปี 61 ด้วยเสน่ห์หลากหลาย เชื่อมโยงสังคม วัฒนธรรม อาหารและบริการ คาดหวังสร้างรายได้แตะ 3 ล้านล้านบาท เตือนเทคโนโลยีมาแรง ผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนตาม ไม่รอด
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเวทีเสวนา “ท่องเที่ยวไทยปี 61 จะเดินไปทางใด” ในโอกาสเปิดตัวพ็อคเก็ตบุ๊คท่องเที่ยวไทยล่าสุดเล่มที่ 28 ของ นางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ โดยปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ แสดงความยินดีกับความสำเร็จในการเปิดตัวหนังสือเล่มที่ 28 ของคุณโสธิตา และว่า ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของไทยเจริญสูงสุด โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากตัวเลขนักท่องเที่ยวมาประเทศไทยจำนวน 12 ล้านคนในปี 2545 ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หรือเกือบ 4 เท่าตัว สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 6 แสนล้านบาท เป็น 2.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP มาเป็น 20% ของGDP ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มี 1 ล้านคนได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านคน
ทั้งนี้ในปี 2561 แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ “เทคโนโลยี” ที่จะมาแรง เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามา ทั้งออนไลน์ แอปพลิเคชั่น ทำให้บรรดาผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถอยู่รอดได้ ส่วนในภาคแรงงานเสนอว่า จะต้องมีการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ปัจจุบันมีอยู่ 4.5 ล้านคนให้ชัดเจนว่า จะพัฒนาอย่างไร ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าไว้ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.75 ล้านล้านบาท เป็น 3 ล้านล้านบาทในปี 2561 ภาคแรงงานจึงต้องให้ชัดเจน ขณะเดียวกันยังเน้นเรื่อง Local Experience การท่องเที่ยวชุมชน มีการต่อยอดสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ด้านพันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนองค์การมหาชนหรือ อปท. ได้แสดงความยินดีกับคุณโสธิตาเช่นกัน และชื่นชมการเลือกสถานที่เปิดตัวผลงานได้อย่างน่าสนใจ “เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก” ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยว เป็นแนวโน้มของปี 2561 นั่นคือ การใส่ใจเรื่องราว ใส่ใจในรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ นอกเหนือจากการแค่ถ่ายภาพ
“นักท่องเที่ยวจะเริ่มใส่ใจในสังคม วัฒนธรรม มองว่า การท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนอย่างไร โรงแรมที่พักเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ชุมชนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไร มีความสนใจการทำกิจกรรมในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ซึ่งเป็นการนำต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมมาเป็นต้นทุนของแหล่งท่องเที่ยว ช่วยสร้างความภูมิใจให้ชุมชน รักความเป็นอัตลักษณ์ในตัวตนของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกว่า ความเป็นตัวตนของพวกเขา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขายได้ สร้างรายได้ อันจะทำให้เกิดการอนุรักษ์และสานต่อและช่วยให้เกิดความยั่งยืนตามมา”
ด้านนายธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท. เชื่อมั่นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย โดยกล่าวว่า จากการที่ตนทำงานที่ททท.มาตั้งแต่จบการศึกษาเป็นที่แรกมากระทั่งปัจจุบันมากกว่า 30 ปี ทำให้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาตลอด ททท.อายุ 60 ปีและ 15 ปีที่ผ่านมาเกิดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาช่วยทำงานดูแลด้านการท่องเที่ยวเพิ่ม
นายธเนศวร์ ชี้ว่าปี 2561 จะเป็นปีที่ต้องตื่นเต้นเพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมของโลกจะเป็นไปอย่างดุเดือดและผู้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทัน เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงฉับไวแบบรายวัน
แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกอย่างหนึ่งคือ นักท่องเที่ยวไม่ชอบให้เรียกพวกเขาว่า นักท่องเที่ยวหรือ “ทัวริสต์” แต่มีความสุขที่จะถูกเรียกว่า “นักเดินทาง” เพราะมีมิติของการค้นหาประสบการณ์มากกว่า ดังนั้นฝั่งซัพพลายจึงมีความสำคัญ เพราะนักท่องเที่ยวจะเข้าไปสัมผัส พูดคุย ซึ่งททท.มั่นใจว่า จะทำงาน ดูแลจัดหาบริการให้สอดพ้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ เพราะได้รับความร่วมมือ ได้หลายภาคส่วนมาช่วยทำงาน
ฝ่ายนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) มองแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2561 ว่าประเทศไทยยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวโปรดปรานเหมือนเดิม โดยกรุงเทพมหานครเพิ่งได้รางวัลว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอันดับ 1 แซงลอนดอนมาเป็นเวลา 2 ปี เพราะไทยมีเสน่ห์ ตรงที่มีความหลากหลายทางด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ตามคอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวของปีหน้าที่เน้น 3 ส. (สนุก เสน่ห์ สุขสบาย )และ 1 อ.(อร่อย)
ขณะเดียวกันไทยยังมีความพร้อมด้านที่พักสำหรับบริการ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ จนกล่าวได้ว่า มีการสร้างมากจนโอเวอร์ซัพพลายแล้ว อาจต้องดูแลในด้านที่พักถูกกฎหมายที่มีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ไทยยังมีเรื่องของการเดินทางและการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวสะดวก ซึ่งไทยมีการพัฒนาไปมาก มีความเชื่อมโยงของเส้นทางสนามบิน ท่าเทียบเรือ ถนนและกำลังมีระบบราง ในอนาคตถ้าแล้วเสร็จจะถือเป็นไฮไลท์ของประเทศไทย ทำให้สามารถแชร์แหล่งท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคได้
การพัฒนาบุคลากร ซึ่งไทยยังมีหัวใจในการบริการอยู่มาก แต่ยังต้องให้บุคลากรมีความเข้าใจของการบริการอย่างจริงจัง พัฒนาให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ เพราะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน ที่จะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้นตั้งแต่เบื้องต้นและมีการรองรับการทำงานพร้อมกับท่องเที่ยว เช่น การบริการไวไฟฟรี ในขณะที่ต่างประเทศต้องเสียค่าใช้จ่าย ทำงานไปท่องเที่ยวไปด้วยและถ่ายภาพโชว์ให้เพื่อน ๆ ดู
สำหรับ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงทิศทางสกว.ในปี 2561 ว่า หลังจากในปี 2559 รัฐบาลได้ให้สวทน.และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) บริหารจัดการร่วมกัน เกิดเป็นสภาวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เดิมการให้ทุนวิจัยทำตามความต้องการของผู้จะนำไปใช้ประโยชน์และการนำผลงานวิจัยไปใช้
สำหรับในปี 2561 สกว. ได้ทำMOU กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.)และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มีเป้าหมายการวิจัยในด้านพัฒนาแรงงาน โดยจะทำในเรื่อง virtual tourism academy สำหรับแรงงานที่ไม่ได้มาเรียนในสถาบันการศึกษา
นอกจากนี้สกว.จะช่วยขับเคลื่อนโดยรับโจทย์มาจากทุกฝ่ายโดยทำเรื่องที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ได้ ไม่ทำหลายเรื่อง โดยสกว.จะช่วยทำ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ด้าน Medicle Service เป็นบริการด้านการแพทย์ ,2.Wellness Tourism เรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ กีฬา,3.รูปแบบการท่องเที่ยวในแหล่งวัฒนธรรม (cultural based tourism-cbt) และ4.ทำในเรื่องของผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะมีการจัดสรรทุนเพื่อให้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
สุดท้าย นางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ในฐานะสื่อคนเดียวบนเวทีกล่าวว่า ปัจจุบันยุคสื่อออนไลน์มาแรง เป็นไปตามคำกล่าวของอดีตผู้บริหารสิ่งพิมพ์ หลังออกจากงานได้ปรับตัวผันมาทำสื่อออนไลน์ให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมกลุ่มบล็อกเกอร์ 11 คนที่สร้างการติดตามได้มากกว่า 1.5 ล้านคน แต่ยังแพ้กลุ่มของจีนที่ 4 คนรวมกันมีผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้านคน จึงอย่ามองข้ามตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ นอกจากนี้พยายามใช้เทคนิคต่างๆมาช่วยเพื่อช่วยเพิ่มยอดวิวในสื่อโซเชียล เพราะทุกยอดวิวมีความหมายต่อการทำธุรกิจ
สรุปภาพรวมอนาคตทิศทางการท่องเที่ยวไทย ไม่ใช่มุ่งเป็นเจ้าตลาดในอาเซียน ไม่เป็นคู่แข่งใคร แต่จะเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งในช่วงต้นปี 2561 ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุมอาเซียน กรอบความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตบท้ายว่า เทรนด์การท่องเที่ยวปี 2561 ที่ชู 3 ส. 1 อ.นั้นมาแรงหมด แต่แรงที่สุด น่าจะเป็น “สนุก” และ “อร่อย”
ขอบคุณภาพประกอบโรงแรมจาก-http://www.raweekanlaya.com