“ธนาคารที่ดิน” เป็นประโยชน์
ทั้งต่อเศรษฐกิจ-สังคมส่วนรวม
ประเทศไทย นับว่าประสบปัญหามายาวนานเรื่องประชาชน เกษตรกรและคนยากจนจำนวนมากไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย อย่างไรก็ดีภาครัฐได้พยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพยายามผลักดันจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” เพื่อบริหารจัดการ จัดสรรที่ดินทำกินแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ตลอดจนเป็นแหล่งทุนให้กับประชาชนไม่ให้ต้องสูญเสียที่ดินทำกิน เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ นำสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยลดปัญหาด้านสังคมและเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
เมื่อเร็ว ๆนี้ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.)ได้จัดการสัมมนาให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนถ่ายทอดมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน ภายใต้หัวข้อ ” ธนาคารที่ดินมีประโยชน์อย่างไรต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ณ โรงแรม เดอะสุโกศล โดยมี นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พลโท ชาญชัย ภู่ทอง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง กรรมการและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองศาสตราจารย์ นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเมืองแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตร์จารย์ อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้อำนวยการด้านการบริหารจัดการธนาคารที่ดินและนายสุรพล สงฆ์รักษ์ ผู้ประสานงานสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ เข้าร่วมเสวนา ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังมุ่งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้นำชุมชนและเกษตรกรด้วย โดยทุกฝ่ายล้วนมีความเห็นตรงกันว่า “ธนาคารที่ดิน” จะเป็นทางออก ของปัญหาได้อย่างยั่งยืน
“ธนาคารที่ดิน” มุ่งให้เกษตรกร-ผู้ยากไร้มีที่ดินทำกิน
ทั้งนี้ไทยยังมีผู้ไร้ที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนประชากรที่มีอยู่ราว 67.01 ล้านคนนั้น คิดเป็นเกษตรกรประมาณ 33.4% หรือราว 12.3 ล้านคน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งฟ้าฝนไม่เป็นใจ ผลผลิตลดลงและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้รายได้ของเกษตรกรไม่เพียงพอที่จะดูแลครอบครัว
จากเหตุดังกล่าวทำให้มีเกษตรกรประมาณ 70% หรือราว 9.5 ล้านคน ประสบปัญหาขาดทุนจากการทำเกษตร ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากนายทุนในท้องถิ่นหรือสถาบันการเงิน ทำให้สูญเสียสิทธิในที่ดินของตัวเอง กลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกิน ทำให้ต้องไปเป็นเกษตรกรรับจ้าง หรือต้องเช่าที่ดินทำกิน ขณะที่เกษตรกรอีกส่วนหนึ่ง ไปบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ หรือที่ดินของรัฐ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ป่าไม้ของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง(ข้อมูล-บจธ.)
นอกจากนี้ที่ดินส่วนใหญ่ยังอยู่กับกลุ่มทุน หรือมีการถือครองที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อย โดยที่บางส่วนซื้อที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร ทำให้เกิดปัญหาที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้างไว้และมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่คุ้มค่า
ที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การตังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือ ส.ป.ก. การมีกองทุนฟื้นฟูและกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน เป็นต้น
ล่าสุดมีการผลักดัน “สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์การมหาชน)” หรือ “บจธ.” ขึ้นโดยมีภารกิจสู่การจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” โดยให้เป็นกลไกชั่วคราวหรือ ทดลองดำเนินงานในรูปแบบของ “ธนาคารที่ดิน” เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภายใต้พ.ร.ก.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการที่ดิน(องค์กรมหาชน)หรือบจธ. มีอายุการดำเนินงาน 5 ปี
ภารกิจของบจธ. ในขณะนั้นเน้นช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกิน แก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร รวมถึงการแก้ปัญหาการกระจุกตัวจากการถือครองที่ดินของกลุ่มทุน หรือผู้ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมไปพลางก่อนการตั้งธนาคารที่ดินได้สำเร็จ
หลังดำเนินงานได้เพียง 3 เดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและได้มาดำเนินการต่อในยุครัฐบาลคสช.ในปัจจุบัน เพื่อสานต่อนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน พร้อมมีการสรรหาคณะกรรมการ ผู้อำนวยการ คัดเลือกผู้ปฏิบัติงาน โดยมีองค์ประกอบครบถ้วน และเริ่มปฏิบัติงานเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา โดย มี พลโท ชาญชัย ภู่ทอง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบจธ.และมีนายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ เป็นผู้อำนวยการบจธ.
ทั้งนี้เพื่อให้ภารกิจต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรีได้มีมติต่ออายุการดำเนินงานของบจธ.ที่หมดอายุลงวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ออกไปอีก 3 ปีในวันที่ 26 เมษายน 2559 เพื่อให้การจัดตั้งธนาคารที่ดินเดินต่อไปให้สำเร็จลุล่วง โดยครม.มีมติจัดสรรงบประมาณ 690 ล้านบาทให้ บจธ.นำไปช่วยเหลือเกษตรกรและปฏิบัติภารกิจของบจธ.
“บจธ.” วางรากฐาน “ธนาคารที่ดิน”
เพื่อให้การจัดตั้งธนาคารที่ดินบรรลุเป้าหมาย บจธ.ได้กำหนดภารกิจหลัก 2 ด้าน คือ
1.ดำเนินการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งมีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินโดยการให้สินเชื่อในรูปแบบต่าง ๆ กระจายสิทธิการถือครองที่ดินโดยการจัดหาที่ดินเพื่อช่วยเหลือผู้ไร้ที่ดินทำกิน รวมถึงรวบรวมข้อมูลการใช้ประโยชน์และผลักดันเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ โดยบจธ.จะวางรากฐานให้กับธนาคารที่ดินในอนาคต ทั้งในเรื่องข้อมูล โครงสร้างองค์กร การบริหารจัดการ แนวทางการดำเนินงาน รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.บจธ.ยังดำเนินการร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน ซึ่งขณะนี้ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะมีการนำเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกอบกับร่างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยตามพ.ร.บ. ดังกล่าว “ธนาคารที่ดิน” จะมีบทบาททั้งบริหารจัดการที่ดินและการพัฒนา เป็นทั้งแหล่งทุนเพื่อให้เกษตรกรและผู้ยากจนมีที่ดินทำกิน ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่ และป้องกันการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกร
สำหรับภารกิจสำคัญของบจธ. เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามแผนงานในปีงบประมาณ 2559/2560 นี้มี 5 โครงการด้วยกัน
1.โครงการแก้ไขปัญหาเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งมีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจำนองและขายฝาก เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน และศึกษาแนวทางในการป้งอกันปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนในระยะยาว
2.โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลที่ดิน รวมทั้งข้อมูลเกษตรกร ผู้ยากจนที่ไร้ที่ดินทำกิน ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการสูญเสียสิทธิ์ ในพื้นที่นำร่องเพื่อเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการที่ดินอย่างครบวงจรอนาคต ซึ่งมีเป้าหมายปฏิบัติงานภาคละ 9 พื้นที่ รวม 36 จังหวัด ได้แก่ 1.นครสวรรค์ 2.พิจิตร 3.เชียงราย 1. กำแพงเพชร 5.อุทัยธานี 6.เพชรบูรณ์ 7. เชียงใหม่ 8.ลำพูน 9. นครราชสีมา 10. ศรีสะเกษ 11.ร้อยเอ็ด 12.อุบลราชธานี 13.ยโสธร 14. บุรีรัมย์ 15.สกลนคร 16.หนองบัวลำภู 17.ชัยภูมิ 18.ขอนแก่น 19.ชัยนาท 20.ปราจีนบุรี 21.สุพรรณบุรี 22.ลพบุรี 23.ระยอง 24.สระแก้ว 25.สุรินทร์ 26.ราชบุรี 27.นครปฐม 28.อำนาจเจริญ29.สงขลา 30.นครศรีธรรมราช 31.สุราษฎร์ธานี 32.ตรัง 33.ชุมพร 34.กระบี่ 35.พัทลุงและ 36.นราธิวาส
3.โครงการศึกษาวิจัยระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่ดิน เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลที่ดินการใช้ประโยชน์ที่ดิน การถือครองที่ดิน รวมทั้งข้อมูลผู้ประสบปัญหาเกี่ยวกับที่ดินที่ทันสมัยและมีประโยชน์สนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินต่อไป
4.โครงการศึกษากระบวนการดำเนินงานธนาคารที่ดิน เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับธนาคารที่ดิน เป็นแนวคิดใหม่ในการปฏิรูประบบการถือครองที่ดินของประเทศไทย มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นจำนวนมากและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนมากจากรัฐบาล จึงควรมีการศึกษาในเบื้องต้น รวมถึงกรณีตัวอย่างของการจัดตั้งธนาคารในประเทศต่าง ๆ
5.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน เป็นการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาไร้ที่ดินทำกินใน จ. ลำพูน 4 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านไร่ดง หมู่ที่ 3 (บ้านใหม่ป่าฝาง หมู่ที่ 15 ) ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง ,ชุมชนบ้านแม่อาว หมู่ที่ 3 ต.นครเจดีย์ อ.ป่าซาง,ชุมชนบ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง และชุมชนบ้านท่ากอม่วง หมู่ที่ 3 ต.หนองปลาสะวาย อ.บ้านโฮ่งและ อีก 1 ชุมชนในจ.เชียงใหม่ คือ ชุมชนบ้านโป่ง หมู่ที่ 2 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน เดินหน้าแล้วใน 5 ชุมชนลำพูน-เชียงใหม่
ในส่วนโครงการนำร่องธนาคารที่ดินนั้น เมื่อเร็ว ๆนี้บจธ.ได้พาคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการนำร่องเยี่ยมชมและรับฟังปัญหาของเกษตรกร ตลอดจนร่วมงานพิธีมอบหนังสืออนุญาตทำกินแก่ผู้แทน 5 ชุมชน
โดยแนวทางการดำเนินงานโครงการที่ได้รับงบประมาณ 167 ล้านบาทนั้น บจธ. ได้เข้าเจรจาจัดซื้อที่ดินจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อนำจัดสรรให้แก่ชุมชนที่รวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์ ในลักษณะของการ “เช่าซื้อ” โดยเกษตรกรทุกคนมีสิทธิและต้องรับผิดชอบร่วมกันในพื้นที่ เบื้องต้นบจธ.ให้สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินเป็นระยะยาว 30 ปี กำหนดการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิดร้อยละ 3 ต่อปี( แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดอกเบี้ย) จากนั้นสหกรณ์ไปจัดสรรที่ดินต่อแก่สมาชิก ครัวเรือนละ 2-3 ไร่ เพื่อให้ทำกิน
สิทธิทำกินในที่ดินนี้สามารถตกทอดสู่ลูกหลานได้ แต่ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้เพราะกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสหกรณ์ ซึ่งจากจุดนี้จะช่วยป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือไปอยู่ในมือของนายทุน ทำให้ประชาชนและเกษตรกรได้มีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน โดยโครงการนำร่องนี้จะมีการประเมินผลอีกครั้ง เพื่อสรุปปัญหา ความสำเร็จของโครงการ การปรับปรุง แก้ไขอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าสู่การดำเนินการธนาคารที่ดินต่อไป
ชี้ “ธนาคารที่ดิน” เป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ-สังคม
นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ ผู้อำนวยการ บจธ. กล่าวในการเสวนา ” ธนาคารที่ดินมีประโยชน์อย่างไรต่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน” ว่า การแก้ปัญหาการไร้ที่ทำกินทำมา 50-60 ปีไม่ได้ผล แต่ธนาคารที่ดินจะมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ไร้ที่ทำกิน และใกล้สูญเสียที่ดินอีกเป็นจำนวนมาก และจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นตามจำนวน ประชากรของไทย ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 20 ล้านคนมาเป็นประมาณ 70 ล้านคนแล้วในปัจจุบัน
ผู้อำนวยการบจธ.ชี้ว่า ธนาคารที่ดินจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในด้านสังคมนั้น ในอนาคตมีแนวโน้มว่า จะต้องเกิดปัญหาขึ้น อย่างแน่นอน ซึ่งมีการเรียกร้องมา 20-30ปี ไม่ได้ผล คนไร้ที่ทำกิน ยังต้องทำมาหากิน แต่ไม่มีหน่วยงานมาช่วยแก้
ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้น ปัจจุบันพบว่า สัดส่วนประชาชนผู้เสียภาษี อยู่ที่ 20% และ มี 70% ไม่ได้เสียภาษี แสดงว่า ในขณะนี้คนรวยกำลังเลี้ยงคนจน
แต่ถ้าคิดในทางกลับกัน เป็นมีผู้เสียภาษีเพิ่มเป็น 70% และมีสัดส่วนผู้ไม่เสียภาษี 20 % ย่อมส่งผลดีไม่น้อย เพราะการที่ประชาชนมีที่ดินทำกิน สามารถสร้างอาชีพ มีรายได้ พวกเค้าจะสามารถเสียภาษีให้กับภาครัฐได้เพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ ทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า มั่นคง
นอกจากนี้ธนาคารที่ดินยังเป็นแหล่งทุนให้กับคนด้อยโอกาสอีกด้วย จึงเป็นธนาคารที่จะช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการขอเงินทุนไปใช้ในการสร้างอาชีพ โดยประชาชนยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินอยู่
“ในยุคนี้ต้องการแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว จึงขอให้มีการตั้งธนาคารที่ดินขึ้น เพราะจากการคำนวณพบว่า ในช่วง5 ปีแรกของการที่รัฐลงทุนเป็นมูลค่า 10,000 ล้าน บาท ในช่วงปีที่5 -20 ปี ลงทุน 20,000 ล้านบาท จะสามารถแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินที่มีอยู่ประมาณ 300,000 ครอบครัวได้เสร็จสิ้น
แต่ประเด็นสำคัญ คือ การเรียกร้องให้มีธนาคารที่ดินที่ผ่านมา กว่า 30 ปีแห่งการรอคอยให้รัฐบาลอนุมัติ แต่ไม่ได้ผล โดยรัฐบาลบางชุดก็ให้ความสนใจ บางชุดก็ไม่ให้ความสนใจ แล้วแต่นโยบายในสมัยนั้น แต่การเป็นธนาคาร จะหมายถึง ความคล่องตัว ซึ่งจะทำให้ยืนอยู่ได้”
ผู้อำนวยการบจธ.กล่าวต่ออีกว่า ขั้นตอนการทำงานของธนาคารที่ดิน ซื้อที่ดิน เช่าและให้ ประชาชน เช่าซื้อ ทำอย่างไรให้คนสูญเสียสิทธิที่ดิน ได้รับการช่วยเหลือ ดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ต้องมีสาขามากมาย เพราะหากสามารถไปลิงค์ข้อมูลกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่ 7,200 ตำบลของประเทศไทยได้ ธนาคารที่ดินก็ไม่ต้องทำสาขามาก ประชาชนจะดูแลกันเอง
นักวิชาการด้านปฏิรูปปท. หนุนหน้าที่รัฐกระจายถือครองที่ดิน
ด้านดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการบูรณาการและขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง กรรมการและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การกระจายการถือครองที่ดินเป็นภารกิจจำเป็นที่ภาครัฐต้องดำเนินการ
โดยเหตุผลที่ต้องดำเนินการคือ เป็นหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่รัฐจะต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและตรวจสอบการถือครองที่ดิน
“ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การไร้ที่ดินทำกิน อยู่เบื้องหลังปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกม็อบ หากแก้ปัญหาได้จะช่วยเกิดความปรองดองได้ เพราะเมื่อมีที่ดินทำกินย่อมส่งผลให้มีอาชีพ รายได้ ช่วยเศรษฐกิจครัวเรือน ดีขึ้นและลดการเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีประมาณ 50 ตระกูลเท่านั้นที่ถือครองที่ดินประมาณ 90% ของประเทศ โดยที่ดินที่ถือครองไว้นั้นเป็นที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้างไว้เพื่อเก็งกำไรถึง 97%
ในขณะที่เกษตรกรไร้ที่ดินทำกินมีมากถึง 40% หากนำที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างนั้นมาเพียง ¼ จะช่วยประชาชนได้เป็นอย่างมาก”
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า จากตัวเลขที่ดินทำกินที่มีอยู่ประมาณ 320 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ 71 ล้านไร่เกษตรกรถือครอง และ 77 ล้านไร่เป็นที่ดินของคนอื่น ซึ่งใน 77 ล้านไร่นี้มีการเช่าที่ทำกิน 29 ล้านไร่ อีก 48 ล้านไร่เหมือนทำฟรีเพราะเป็นที่ดินติดจำนองหรือขายฝาก
ที่ผ่านกล่าวได้ว่า รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาของเกษตรกรหลายอย่าง แต่ยังแก้ได้ไม่สมบูรณ์ หลังวิกฤตปี 2540 กลไกการกระจายที่ดินเอกชนยังไม่ครบ ทั้งนี้มองว่า ธนาคารที่ดินจะช่วยอุดช่องว่างต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายหลายฉบับได้ และเป็นองค์กรที่จะมาดูแลที่ดินทิ้งร้าง หรือเป็นตัวกลางนำที่ดินทิ้งร้างมาใช้ประโยชน์ ช่วยแก้ปัญหาเกษตรกรที่ประสบปัญหาที่ดินจะหลุดมือ และทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินตามมาได้
แนะส่งเสริมประชาชนรวมกลุ่ม-ชี้ความเป็นเจ้าของ เพิ่มตั้งใจดูแลที่ดิน
ด้านรองศาสตราจารย์ นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเมืองแห่งชาติกล่าวว่า ธนาคารที่ดินมา จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้ โดยการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันของภาคประชาชน ทำให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จะช่วยสร้างอนาคต ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและประเทศจะได้ประโยชน์ เพราะการมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จะทำให้เกษตรกรมีความตั้งใจดูแลบำรุงดินให้ดี ทำให้ ได้ทรัพยากรที่ดีและนำสู่อนาคตที่มั่นคงได้ ด้วยการมีผลผลิตที่ดีจะทำให้ขายได้ราคาดีกว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น
รองศาสตราจารย์ นที ยังตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาธนาคารที่ดินยังไม่ขับเคลื่อนเพราะเหตุผลหลายอย่าง 1.งบประมาณ เพราะยังไม่แน่ชัดว่า จะต้องใช้เท่าใด 2. กลไกการขับเคลื่อน 3.ตัวชี้วัดความสำเร็จ และ 4. การให้โอกาสภาคประชาชนมีส่วนร่วมและร่วมเป็นกลไกในการพัฒนา
พร้อมแนะให้ทำงานเชื่อมโยงกับ กองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นกระบวนการภาคประชาชนที่มีประสบการณ์ในด้านการปล่อยสินเชื่อให้แก่สมาชิกในชุมชน โดยการบริหารจัดการกันเองของคนในชุมชนและมีพัฒนาก้าวหน้าด้วยดี
“ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมากองทุนหมู่บ้านปล่อยสินเชื่อให้แก่ประชาชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 แสนล้านบาท มีกองทุนมากกว่า 79,000 กองทุนและมีสมาชิกมากกว่า 13 ล้านคน สามารถยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนได้ 2,560 แห่ง และมีเงินทุนหมุนเวียนมากกว่า 3 แสนล้าน โดยให้ท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เป็นกลไกภาคประชาชน
“ตอนนี้กองทุนหมู่บ้านมีเงินออมเป็นจำนวน 4-5หมื่นล้านบาท กองทุนหมู่บ้านบางแห่งเงินทุน 1 ล้านบาท เติบโตเป็น 180 ล้านบาท ถ้ากลไกภาคประชาชน เข้มแข็งจะทำให้พัฒนาได้ รัฐยังต้องติดตามสนับสนุนต่อ ทิ้งไม่ได้ อยากให้เอาบทเรียนกองทุนหมู่บ้านมาดู เอาจุดเข้มแข็งมาเชื่อมต่อกลไกที่มีอยู่ การสร้างกลุ่มจะช่วยให้มีพลัง”
รองศาสตราจารย์ ดร. นทียังกล่าวอีกว่า “ธนาคารที่ดินเป็นทางเลือกที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งจากประสบการณ์ สิ่งสำคัญ คือ “การบริหารจัดการ” โดยมองว่า ธนาคารที่ดิน ตั้งขึ้นได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากกว่า คือ “การบริหารจัดการ” ซึ่ง กองทุนหมู่บ้านก็อยากเข้ามาร่วมกับธนาคารที่ดิน รวมทั้งภาคประชาชน มาทดลองแก้ปัญหาในเรื่องของที่ดินร่วมกันในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกันโดยใช้กลไกของธนาคารที่ดิน”
งานไม่ซ้ำซ้อน- ช่วยหนุนองค์กรเดิมๆ
โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่า ธนาคารที่ดินจะเป็นคำตอบ ของการแก้ปัญหาการไร้ที่ทำกินที่สามารถนำมาซึ่งปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ความขัดแย้งของคนในสังคมและอื่น ๆ ตามมาได้ นอกจากนี้ยังจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม
ขณะเดียวกัน “ธนาคารที่ดิน” ยังไม่ได้ทำงานซ้ำซ้อนหน่วยงานอื่น ๆ ในทางกลับกันยังสนับสนุนหน่วยงานที่มีอยู่เดิม เช่น สนับสนุนงานของส.ป.ก. ในการคงสิทธิในที่ดิน ช่วยพัฒนาการใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการสร้างรายได้ของเกษตรกรและทำให้เกิดความรักและหวงแหนที่ดินทำกิน
อีกทั้งยังสนับสนุนหน่วยงานที่มีภารกิจช่วยเหลือเกษตรกรอยู่แล้ว อย่างกองทุนฟื้นฟูและกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน ตลอดจนสนับสนุนงานของกรมบังคับคดี ซึ่งมีที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากถูกบังคับคดีและรอการขายทอดตลาด และสนับสนุนผังเมืองในการส่งเสริมให้มีพื้นที่สีเขียวได้อีกทางหนึ่ง
“ธนาคารที่ดิน” ใกล้เป็นจริง
ทั้งนี้ ตามโรดแม็พของรัฐบาล “ร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน” มีกำหนดประกาศใช้ในวันที่ 8 มิถุนายน 2562 โดยจะออกมาตามหลัง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ (พ.ศ.2560) ที่จะมาแทน พ.ร.บ. “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” พ.ศ.2475 และ พ.ร.บ. “ภาษีบำรุงท้องที่” พ.ศ.2508 เดิม ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี อาจจะมีการผ่านร่างพ.ร.บ.ธนาคารที่ดินและทำให้เกิดธนาคารที่ดินได้เร็วกว่านั้นก็เป็นได้
นั่น ต้องคอยลุ้นกันต่อไป ….
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก-เฟซบุ๊คบจธ.