ธพว. จัดมหกรรม “เติมเงินทุนฯ”
ผู้ประกอบการเข้าถึงครบวงจร
SME Development Bank จัดโรดโชว์แดนใต้ ในงาน “เติมเงินทุน SMEs มุ่งสู่มาตรฐานเทคโนโลยี 4.0” เสริมเขี้ยวเล็บให้ธุรกิจ SMEs หลังผลโพล์ม.หอการค้าไทยชี้ชัดธุรกิจ SMEs 68.8% ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว และจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2561 ภาครัฐควรเสริมช่วยเข้าถึงสินเชื่อ หนุน ธพว. ใช้ข้อมูล นำผลวิจัยไปต่อยอด ยกระดับ SMEs เพิ่มขีดความสามารถสู่ยุค Thailand 4.0 มองเศรษฐกิจ หรือ GDP ของ SMEs ปี 2560 ขยายตัวที่ 4.5% ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2561-64 จะปรับตัวดีขึ้นจาก 4.4% เป็น 4.6%, 4.9% และ 5.4%
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. SME Development Bank) กล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่า SMEs ไทยในขณะนี้ฟื้นตัวแล้ว โดยผู้ประกอบการทางภาคใต้ มีสัดส่วนถึง 53% ตัดสินใจลงทุนตั้งแต่ครึ่งปีแรกของปี 2561
ทั้งนี้ หากประเมินผลการสำรวจข้อมูลทางแล้ว พบว่า ภาคใต้ถือเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวของ SMEs สูงสุด ธพว. ในฐานะเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา จะเร่งนำผลการสำรวจดังกล่าวไปต่อยอดพัฒนาแก่ผู้ประกอบการให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงปฎิบัติตามพันธกิจของธนาคาร เน้นให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าถึงแหล่งทุน รองรับการก้าวเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ผลักดันให้เศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) เข้มแข็งในอนาคต
โดยธนาคารได้เตรียมกิจกรรมเพื่อเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ อาทิ แนะนำการใช้คูปองสำหรับตรวจสอบมาตรฐานสินค้าจาก Central Lab Thai (แล็บประชารัฐ) สร้างมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และบริการอบรมการใช้โปรแกรมทางบัญชี “ERP on Cloud” บนสมาร์ทโฟน ช่วยให้การบริหารบัญชีทำได้จากทุกมุมโลก รองรับมือกับมาตรฐานบัญชีใหม่โดยจะมีผลต่อการยื่นขอพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงินตามเกณฑ์รายได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.2561
ภายในงาน ธนาคารได้นำแนวคิดการให้บริการแบบ “7:1:0” โดย 7 ตัวแรกคือ พร้อมอนุมัติสินเชื่อภายใน 7วัน, 1 คือ เบิกจ่ายวงเงินถึงมือภายใน 1 วัน และ 0 คือ ฟรีค่าธรรมเนียม 0% นำร่องในสินเชื่อแฟคตอริ่ง (Factoring) “ทั่วไทยเบิกจ่ายในวันเดียว (ระยะที่2)”ช่วยเครดิตการค้า สภาพคล่องไม่สะดุดธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับการสำรวจของทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่ต้องการเน้นในเรื่องสภาพคล่อง และการรวบรวมผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ตรงตามความต้องการ อาทิ กองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 3 ปีแรกและไม่ต้องมีหลักประกัน
สินเชื่อ Transformation Loan วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนขยาย หรือปรับปรุงกิจการระยะเวลากู้ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 คงที่ 3% และปีที่ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี (ตามประกาศของธนาคาร) วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท กรณีกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้ บสย. ช่วยค้ำประกันได้ วงเงินกู้เกิน 5 ล้านบาท สามารถใช้หลักประกันตามเกณฑ์ปกติของธนาคารเฉพาะประเภทที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง, สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการชุมชน วงเงิน 7,500 ล้านบาท (ฟรีค่าธรรมเนียมจาก บสย. 4 ปี) สำหรับบุคคลธรรมดา กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท นิติบุคคล กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ยืมนาน 7 ปี ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MLR -1.5 ต่อปี ปีที่ 2 เป็นต้นไปหากใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของธนาคาร คิดอัตราดอกเบี้ย MLR -1.0 ต่อปี
อย่างไรก็ดี การจัดมหกรรมโดยเจาะรายภูมิภาคครั้งนี้ เป็นไปตามพันธกิจของธนาคาร ที่ต้องการเน้นพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ทั้งเข้าถึงแหล่งทุน ยกระดับการท่องเที่ยวควบคู่กับการทำการตลาดแบบเล่าเรื่อง (Story telling) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวที่ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ อาทิ “แพ 500 ไร่”จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังนั้นด้วยศักยภาพของภาคใต้ที่ใช้การท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัว ผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับ เพิ่มมูลค่าสินค้าสามารถรับบริการได้ในงาน
“ต้องยอมรับว่า ภาคใต้นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ แม้เกิดวิกฤติสามารถฟื้นตัวได้เร็ว จากเหตุการณ์น้ำท่วมต้นปี มีลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบถึง 8,000 ราย แต่มีเพียง 10% เท่านั้นที่ขอรับบริการสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจ เนื่องจากภาคใต้ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ธนาคาร จึงได้เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว วงเงิน 7,500 ล้านบาทแล้ว”
นายมงคล ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า มหกรรม “เติมเงินทุน SMEs มุ่งสู่มาตรฐาน เทคโนโลยี 4.0” แบ่งการจัดงานออกเป็น 6 ครั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-15 พฤศจิกายน 2560 ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย.60 ณ ห้องเกาะกลาง โรงแรมกระบี่ ฟร้อนท์เบย์รีสอร์ท จ.กระบี่, ครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 4 พ.ย.60 ณ ห้องนครรินทร์ บอลลูม โรงแรมเรือรัษฎา จ.ตรัง, ครั้งที่ 3 วันศุกร์ที่ 10 พ.ย.60 ณ ห้องอภัยนุราช2 โรงแรมสินเกียรติ บุรี โฮเต็ล จ.สตูล, ครั้งที่ 4 วันเสาร์ที่ 11 พ.ย.60 ณ ห้อง จุติ เอ โรงแรมหรรษา เจบี (หาดใหญ่) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, ครั้งที่ 5 วันจันทร์ที่ 13 พ.ย.60 ณ ห้องอรพินธ์ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช และครั้งที่ 6 วันพุธที่ 15 พ.ย.60 ณ ห้องทับทิม2 โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จ.สุราษฎร์ธานี ทุกงานผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าในงาน“ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมฯ” ภายในวันที่ 4-24 ธันวาคม 2560 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายพร้อมกันนี้ด้วย
ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวตอกย้ำถึงสถานการณ์ SMEs ว่า ขณะนี้ธุรกิจ SMEs 68.8% ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้ว และจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ปี 2561 ดังนั้นมาตรการภาครัฐควรเข้ามาเสริม คือ ต้องช่วยให้ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เนื่องจากผลสำรวจพบว่า SMEs 1 รายจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ยสูงถึง 1.36 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อสูงถึง 72% หาก ธพว. นำผลวิจัยไปต่อยอดเชิงปฏิบัติได้ จะถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการที่สถาบันการเงินหลักที่มีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการ SMEs มีข้อมูลเชิงลึก ทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบได้รวดเร็ว เนื่องจากมี SMEs บางรายที่เมื่อขอสินเชื่อแล้วกลับขาดส่งเงินต้นและดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4 เดือน หากดูแลปัญหาจุดนี้จะช่วยให้โอกาสเกิดหนี้เสียจากธุรกิจ SMEs จะน้อยลงไปด้วย
มองภาวะเศรษฐกิจ หรือ GDP ของ SMEs ปี 2560 ขยายตัวที่ 4.5% โดยธุรกิจขนาดย่อมจะขยายตัว 4.4% ธุรกิจขนาดกลางขยายตัว 4.9% และธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 5.1% ถือเป็นการขยายตัวในทิศทางดีขึ้นจากเดิมที่คาดว่า SMEs จะขยายตัวได้เพียง 4.2% (บนพื้นฐานของจีดีพี ที่ขยายตัว 3.9%)
ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคาดว่า GDP ของธุรกิจ SMEs ในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2561-64 จะปรับตัวดีขึ้นจาก 4.4% เป็น 4.6%, 4.9% และ 5.4% ตามลำดับ ถือเป็นการเติบโตสูงในรอบหลายปีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และคาดว่าเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ปี 2561-64 จะขยายตัวจากฐานปี 2560 ที่ 3.9% เพิ่มเป็น 4.2%, 4.5%, 4.7% และ 5.1%ตามลำดับ นับเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง