ปส.เปิด “RN 65” 1ใน3อาเซียน
สถานีตรวจรู้ “ทดลองนิวเคลียร์”
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) อีกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้หน่วยงานอื่นและมุ่งยกระดับทำงานเพื่อให้ได้การยอมรับในระดับนานาชาติ ล่าสุดได้ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม “สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น ๖๕” (Radiation Monitoring Station : RN 65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3 สถานีในภูมิภาคอาเซียน นอกเหนือจากที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เพื่อรับทราบภารกิจของ ปส. ด้านการเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างเป็นรูปธรรม นำสู่การเสนอข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับประชาชนว่า หากเกิดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นทั่วโลก ปส. จะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมปฏิบัติการตามมาตรฐานสากล
นายธงชัย สุดประเสริฐ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย ผู้แทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2539 ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT: Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty) เป็นประเทศที่ ๑๓๓ และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้สัตยาบัน โดยมี ปส. เป็นหน่วยงานหลักระดับชาติในการประสานงานตามพันธกรณี
ทั้งนี้สนธิสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ ห้ามรัฐภาคีทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง ครอบคลุมทั้งบนดิน ใต้ดิน ใต้น้ำ และอวกาศ และต้องให้ความร่วมมือในการจัดตั้งเครือข่ายตรวจสอบการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก ปส. ได้เล็งเห็นว่าการเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น 65 ขึ้น โดยใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ใกล้กับสถานีอุตุนิยมวิทยานครปฐม เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมทางเทคนิคในการจัดตั้งสถานีฯ มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบหากเกิดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเครือข่ายเฝ้าระวังทางรังสีของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.ยุทธนา ตุ้มน้อย นักชีววิทยารังสีชำนาญการพิเศษ ปส. เปิดเผยว่า สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศนี้ มีทั้งหมด 80 สถานีทั่วโลก ซึ่งมีเพียง 3 สถานีในภูมิภาคอาเซียน (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์)
ในต้นปี 2561 CTBTO จะทำการติดตั้งระบบตรวจวัดก๊าซเฉื่อยรังสี (Noble Gas System) ส่งผลให้สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น 65 ของไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับให้กลายเป็น 1 ใน 40 สถานีทั่วโลก และเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน ที่มีศักยภาพสูงในการเฝ้าตรวจการทดลองระเบิดและอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณความไม่สงบบนคาบสมุทรเกาหลี ปส. ได้ติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างต่อเนื่องร่วมกับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBTO : Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization) มั่นใจว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง และเตรียมรับสถานการณ์ทางนิวเคลียร์และรังสีที่อาจเกิดขึ้นผ่านสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอาร์เอ็น 65
ทางสถานีมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานี (Local Station Operator) ทำการเก็บ เตรียม และวัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีในตัวอย่างอนุภาคในอากาศ พร้อมกับส่งผลการวัดไปยังศูนย์ข้อมูลระหว่างประเทศ (International Data Center : IDC) ณ สำนักงานใหญ่ของ CTBTO กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อทำการวิเคราะห์ผลการวัด
หลังจากการวิเคราะห์ผลแล้ว จะส่งข้อมูลกลับมายังประเทศไทย ซึ่งในขั้นตอนนี้จะทำให้สามารถตรวจรู้ได้หากมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นทั่วโลก โดยจะยืนยันผลร่วมกับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจแบบอื่นๆ ของ CTBTO อาทิ สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพพีเอส ๔๑ โดยมี 4 เทคโนโลยีที่จะช่วยยืนยัน คือ สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีฯ สถานีเฝ้าระวังการสั่นสะเทือนของพิภพ สถานีตรวจวัดคลื่นใต้น้ำ และสถานีตรวจวัดคลื่นใต้เสียง หากข้อมูลทั้ง 4 ข้อมูลสอดคล้องกันก็สามารถระบุได้ว่าเป็นการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
กระดาษเก็บฝุ่นละอองในอากาศถูกอัดแน่นเป็นแผ่นกลมก่อนเก็บรักษาไว้
นอกจากนี้ ปส. ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ พร้อมทั้งเครื่องมือที่ทันสมัยพร้อมปฏิบัติการตลอด ๒๔ ชั่วโมง และให้ขอประชาชนมั่นใจว่าหากมีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรืออุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ต่างๆ ประเทศไทยจะมีความพร้อมในการตรวจสอบและรับมืออย่างทันท่วงที
ดร.ยุทธนา ยังเปิดเผยด้วยว่า การจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน
จ.นครปฐม มีความเหมาะสม กล่าวคือ
1. มีการแยกตัวของชั้นบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 25
2. อยู่ห่างจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยที่บางเขนและสถานประกอบการทางรังสีขนาดใหญ่มากกว่า 50 กิโลเมตร
3. พื้นที่เปิดโล่งสามารถเก็บและตรวจวัดปริมาณกัมมันตภาพรังสีในอากาศได้โดยไม่มีสิ่งรบกวน และสามารถติดตั้งระบบรับ-ส่งข้อมูลผ่านสัญญาณดาวเทียมระหว่างสถานีฯ กับสำนักงานใหญ่ของ CTBTO ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
4. ระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับต่ำ
5. ไม่มีประวัติการเกิดภัยธรรมชาติ
6. มีระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นในการดำเนินงานของสถานีฯ
7. การขนส่งเครื่องสามารถดำเนินการได้สะดวก