พม.-รพ.รามาฯ-สสส.ร่วมรณรงค์
ยุติรุนแรงต่อเด็ก/สตรี/คนครอบครัว
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2560 ภายใต้แนวคิด “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์” ด้วยคำขวัญ “หยุด! คำร้าย ทำลายครอบครัว” โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) คณะแพทย์ฯรพ.รามาธิบดีและสสส. เป็นเจ้าภาพจัดงาน เพื่อรณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมสื่อสารเชิงบวกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เปิดผลสำรวจ พบ10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว “เหนื่อยไหม” มาเป็นอันดับ1 ตามด้วย “รักนะ” และ “มีอะไรให้ช่วยไหม” สอดพ้องผลสำรวจ“ความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวของสสส.-ศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงฯที่พบ “วาจา” ทำร้ายจิตใจมาเป็นอันดับแรก
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” และจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 กระทรวง พม. และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว
โดยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำ “ริบบิ้นสีขาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่แสดงออกถึงการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” มาใช้ในการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วยเนื่องจากความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในหลายมิติ ของสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากทัศนคติและค่านิยมที่เลือกปฏิบัติโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่ยังมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นการใช้วาจา ที่ไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของครอบครัว และต่อสุขภาพกายและจิตของบุคคลในครอบครัว จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นรอบครัวด้วยการสื่อสารเชิงบวกต่อกันให้เกียรติกันทั้งทางกายและวาจา จะช่วยลดการเกิดความรุนแรงในครอบครัวได้ เพราะการสื่อสารระหว่างกันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และการสื่อสารในเชิงให้กำลังใจจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้มีความผูกพันรักใคร่ และครอบครัวมีความเข้มแข็งกันมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กระทรวง พม. โดย สค. ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็น 10 คำดีที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) เหนื่อยไหม 2) รักนะ 3) มีอะไรให้ช่วยไหม 4) คำชมเชย (เก่ง/ดี/เยี่ยม) 5) ไม่เป็นไรน่ะ 6) สู้ๆ นะ 7) ทำได้อยู่แล้ว คิดถึงนะ 9) ขอบคุณนะ และ 10) ขอโทษนะ โดยพบว่า อันดับ 1 เหนื่อยไหม ร้อยละ 20.2 อันดับ 2 รักนะ ร้อยละ 16.1 อันดับ 3 มีอะไรให้ช่วยไหม ร้อยละ 15.2 ตามลำดับ
สำหรับ 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว ประกอบด้วย 1) ไปตายซะ 2) คำด่า (เลว/ชั่ว) 3) แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย 4) ตัวปัญหา 5) ดูลูกบ้านอื่นบ้างสิ 6) น่ารำคาญ 7) ตัวซวย น่าเบื่อ 9) ไม่ต้องมายุ่ง 10) เชื้อพ่อเชื้อแม่มันแรง โดยพบว่า อันดับ 1 ไปตายซะ/จะไปตายที่ไหนก็ไป ร้อยละ 20.4 อันดับ 2 คำด่า (เลว/ชั่ว) ร้อยละ 19 และอันดับ 3 แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลยร้อยละ 16.5 ตามลำดับ
สำหรับปัญหาความรุนแรงต่อเด็กสตรีและความรุนแรงในครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวเมื่อปี 2559ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการสำรวจครั้งแรกและเป็นระดับประเทศ (National Survey) ซึ่งจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และศูนย์จัดการความรู้ความรุนแรงในครอบครัว ได้ร่วมกับ สสส. สำรวจขนาดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวระดับประเทศ โดยวิธีการสถิติสุ่มสำรวจทั่วประเทศ จำนวน 2,280 ครัวเรือนจาก 5 ภาค “ความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวระดับประเทศ” เดือนตุลาคม 2559 – มกราคม 2560 พบว่า ร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว
โดยอันดับ 1 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ถึงร้อยละ 32.3 ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 จากการสำรวจภาคที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ”ภาคใต้” ร้อยละ 48.1 ส่วนกรุงเทพมหานคร พบความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุด ร้อยละ 26
ทั้งนี้ ผลสรุปของการสำรวจครั้งนี้ พบว่า สาเหตุความรุนแรงในครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจาก การทำร้ายทางจิตใจด้วยวาจา ซึ่งสอดพ้องกับการสำรวจของสค. จึงเป็นที่มาของการรณรงค์การสื่อสารเชิงบวกในครอบครัวไทย และกระตุ้นให้คนในครอบครัวใช้คำพูดที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างความปรองดองในครอบครัวและช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
“ความรุนแรงถือเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และปัญหาดังกล่าวไม่ใช่งานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญ ต้องมีส่วนร่วมช่วยกัน เพื่อสังคมไทยที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2560 ตลอดเดือนพฤศจิกายนนี้ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมรณรงค์ในส่วนกลาง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร กทม. ถือเป็นการรวมพลังครอบครัวและพลังทางสังคมในการร่วมแสดงออก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน รวมทั้งศิลปินดารา ที่เข้ามารวมพลังในการแสดงออกถึงการยุติความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดพลังทางสังคม เพื่อให้เกิดแนวทาง “สร้างครอบครัวไร้รุนแรง ด้วยสื่อสารที่สร้างสรรค์”ด้วยแนวคิด “หยุด! คำร้าย…ทำลายครอบครัว”
ภายหลังจากที่ รมว.พม. ได้กล่าวแถลงข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ให้เกียรติเป็นประธานปล่อยขบวนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว โดยมี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วย นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เดินนำขบวนไปยังพื้นที่โดยรอบกระทรวง พม. และโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ในการนี้ ได้มี และ Miss Tourism Queen Thailand 2017 “มอร์แกน” ฉัตรฑิรา มิชาส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งทูตวัฒนธรรมและสิทธิสตรีประจำภาคตะวันออก และ “แป้งฝุ่น” วิชิดา น่วมสอน รองอันดับ 3 Miss Tourism Queen Thailand 2017 ซึ่งดำรงตำแหน่ง ทูตวัฒนธรรมและสิทธิสตรีประจำภาคกลางร่วมเดินรณรงค์ดังกล่าวด้วย