วช.จัดบ่มเพาะนักดิษฐ์อาชีวะ
สร้างเยาวชนนักประดิษฐ์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2561 ภาคกลางและภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้การประดิษฐ์คิดค้นแก่เยาวชนและอาจารย์ โดยศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการฯวช. เป็นประธานในพิธีเปิด ชี้วิจัยและพัฒนามีส่วนสำคัญต่อการสร้างรายได้ของประเทศเพื่อทำให้ประเทศก้าวหน้า ระบุการวิจัยจำเป็นต้องเลือกทำ ที่ตรงความต้องการ ให้ใช้ได้จริง เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม สอดพ้องตามยุทธศาสตร์ชาติ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) บรรยายพิเศษ “นโยบายและทิศทางสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ของประเทศ” โดยกล่าวว่า การจะทำให้ประเทศก้าวหน้าคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น มีการกระจายรายได้อย่างเหมาะสม การนำรายได้และความมั่งคั่งทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและทำให้มีความมั่นคง ทำเป็นธุรกิจที่ทำได้ยั่งยืน
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเทศพยายามพัฒนาระบบวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการวิจัยเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการใช้ได้จริง ขายได้ เป็นประโยชน์ในทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องเลือกทำ โดยกำหนดหัวข้อเรื่องที่สำคัญและมีการหารือร่วมกันของผู้ผลิตและผู้ใช้จริง นอกจากนี้ยังต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาให้มีความสัมพันธ์ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีความเชื่อมโยงกัน
การจะขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้จำเป็นที่จะต้องมีการพบปะกันของผู้ผลิต ผู้วิจัย ผู้พัฒนาต่อยอดและผู้ใช้งานจริง ดังที่วช. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดกิจกรรมบ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา ประจำปี 2561 ภาคกลางและภาคตะวันออกขึ้น ระหว่างวันที่ 18 -20 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมมารวย การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้น ตลอดจนการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยแก่อาจารย์และนักศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้มีทักษะ การคิดทำผลงานที่ว่า จะต้องทำอย่างไรและสามารถเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยได้อย่างเป็นระบบ
หรือหากนักศึกษามีความคิดแล้วให้เสนอต่อผู้ประกอบการและภาคเอกชนหรือภาคชุมชนที่มาเป็นโค้ชให้ เพื่อช่วยให้มีการพัฒนาผลงานมีคุณค่าในทางวิชาการและคุณค่าทางธุรกิจ ซึ่งในเดือนมกราคมจะมีการนำผลงานที่ผ่านการบ่มเพาะเพื่อให้ทุนสนับสนุนเพื่อให้นำผลงานนี้ไปใช้งานต่อไป
กิจกรรมนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนสายอาชีวศึกษาเข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในเชิงนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และสังคมได้
“อาชีวศึกษาถือว่า มีความสำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้ผู้ใช้และอยู่ในชุมชน สังคมได้เห็นปัญหาจริง และมีความสามารถทางด้านเทคนิคและวิศวกรรม โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา มีผลงานระดับอาชีวะที่สามารถใช้งานจริงได้หลายอย่าง เช่น เครื่องล้างรังนกอัตโนมัติ ของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ที่พัฒนาจากสิ่งที่หาได้ง่ายในชุมชน และความสามารถทางด้านเทคนิค สามารถล้างรังนกที่ปนเปื้อนได้ เป็นผลงานที่ผู้ประกอบการอยากใช้และสามารถใช้งานได้จริง โดยผลงานนี้ได้ถูกนำไปต่อยอด ให้พบกับผู้ผลิตจริง ๆและยังเป็นการขยายฐานเพื่อให้เกิดการพัฒนาวิจัยเพื่อให้ใช้งานจริง”
ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 วช. จัดกิจกรรม ใน 4 ภูมิภาค ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก สำหรับครั้งที่ 2 เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2560 ณ โรงแรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ภาคเหนือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 ธันวาคม 2560 ณ โรงแรมนิภาการ์เด้น จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 2,000 คน
กิจกรรมจะเน้นถึงการสร้างแรงจูงใจ และจิตสำนึกในการเป็นนักประดิษฐ์, เทคนิคการสร้างผลงานตามศาสตร์พระราชา, แนวคิดในการสร้างผลงานนวัตกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์และสิ่งประดิษฐ์ที่ได้มาตรฐาน, ทรัพย์สินทางปัญญา/สิทธิบัตร/และอนุสิทธิบัตร รวมถึง Start up ธุรกิจวิจัยสิ่งประดิษฐ์ โดยคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะมีทักษะ ในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยอย่างเป็นระบบ และสามารถต่อยอดผลงานไปสู่เชิงพาณิชย์และสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในปีนี้ ยังได้จัดแบ่งกลุ่มเรื่อง เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ใน 5 กลุ่มเรื่อง ดังนี้ 1) กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2) กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3) กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจริยะ ระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิส์ควบคุม ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 4) กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรม การศึกษาและสังคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5) กลุ่มสิ่งแวดล้อมและพลังงาน
ด้านดร.สาโรจน์ ขอจวนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษา ช่างอุตสาหกรรม สอศ. เปิดเผยภายหลังการบรรยายเรื่อง “การส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา” ว่า ยุทธศาสตร์การวิจัยของอาชีศึกษาเดินตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี หรือนำมาแผนดังกล่าวมากำหนดการพัฒนาขับเคลื่อนการวิจัยระดับอาชีวศึกษา โดยให้ผู้เรียนเป็นนักประดิษฐ์ของประเทศ ในทุกศาสตร์ของอาชีพ ทั้งด้านช่าง พาณิชย์และคหกรรม
ทั้งนี้อาชีวศึกษาอยู่ใกล้สถานประกอบการและชุมชน ได้เห็นกระบวนการผลิตและปัญหา จึงนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นโจทย์ในการพัฒนานวัตกรรมและสินค้า สู่การพัฒนาใช้จริง ด้านผู้เรียน ทุกหลักสูตรมีวิชาโครงการ ที่ต้องกำหนดหัวข้อพัฒนา หลายโครงการประสบความสำเร็จ มีการต่อยอด เพื่อเป็นผลงานของนักศึกษาต่อไป
ในปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษาของเอกชนมาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จากที่เคยมีแต่สถาบันภาครัฐ ทำให้เกิดผลดีมีสถาบันศึกษาเอกชนสนใจเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่า อนาคต การวิจัยพัฒนาจะเข้มแข็งขึ้น ซึ่งสถาบันอาชีวศึกษาของเอกชนปัจจุบันมีอยู่ 484 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 300,000 คน ส่วนภาครัฐมี 426 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 600,000 แห่ง
การบูรณาการระหว่างวช.และสอศ.น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นตัวอย่างการบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐที่เหมาะสมกลมกลื่น ที่จะทำให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้จะเดินหน้าผลักดันนักศึกษาให้มีผลงาน มีสถานประกอบการรองรับ มีผลงานที่จดลิขสิทธิ์ เพื่อปูทางสู่การทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระ
พร้อมกันนี้ดร.สาโรจน์ ยังฝากให้มีการพิจารณาใส่สัดส่วนเปอร์เซ็นต์(%)การร่วมสร้างสรรค์ผลงานวิจัยของลูกศิษย์และอาจารย์ เพื่อเปิดโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพของอาจารย์ด้วย อาทิ ใช้เป็นผลงานอ้างอิงเพื่อยกระดับขั้นหรือเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น