สวทน.ดัน6แผนงานสู่ไทยแลนด์4.0
“สุวิทย์” ชี้กลไกกำหนดอนาคตชาติ
สวทน.ดัน 6 แผนงานหลักขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์4.0 “สุวิทย์” ชี้เป็นกลไกกำหนดอนาคตประเทศ ทั้งการจัดสรรงบประมาณแผนงานสำคัญสำหรับโครงการนำร่องขนาดใหญ่ ส่งเสริมการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี การปฏิรูประบบวิจัย และ การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมในด้านอุตสาหกรรม และขยายผลโครงการสำคัญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า ตามที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กับสวทน. โดยมองว่า สวทน.เป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ จัดทำยุทธศาสตร์และปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกหลักในการกำหนดอนาคตประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีความรอบคอบในการจัดสรรงบประมาณลงในโปรแกรมหรือในโครงการที่เกี่ยวข้องกับ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้สวทน.ได้ตั้งเป้า 6 แผนงานหลัก ในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ดังนี้คือ
1.จัดสรรงบประมาณแผนงานสำคัญ สำหรับโครงการนำร่องขนาดใหญ่ที่มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยีในการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ในระดับ 5 ขึ้นไป ซึ่งหมายถึง เป็นโครงการที่งานวิจัยนั้นมีการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีการทดสอบในสภาพการใช้งานจริง ทั้งนี้เพื่อให้งานวิจัยเกิดเป็นผลงานที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้จริง ซึ่ง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ได้ให้นโยบายว่า ให้มองกลไกตลาดเป็นหลักเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์
2. โครงการนวัตกรรมประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่จะส่งเสริมการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรมของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี โดยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพและมาตรฐานของประเทศไทย (เอ็นคิวไอ) ที่เป็นระดับสากล เพื่อที่จะยกระดับ เอสเอ็มอี ให้สามารถแข่งขันระดับโลกได้ โครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ เอสเอ็มอี ประมาณ 10,000 ราย
“เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่าน รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ให้นโยบายว่าควรทำให้แผนดำเนินงานโครงการนวัตกรรมประเทศไทย เกิดการประสานสอดคล้องกับโครงการสเปียเฮดและผลักดันเอสเอ็มอีที่มีความพร้อมก่อน นอกจากนี้ การขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวจะต้องอาศัยความต้องการของตลาดเป็นหลักเพื่อให้สามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้จริง อย่างไรก็ตาม ท่านยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมฉับพลันมากยิ่งขึ้น ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี มีช่องทางในการเข้าถึงและสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการจากการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมแบบฉับพลันได้” ดร.กิติพงค์ กล่าว
3. การปฏิรูประบบวิจัย และ การผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบนิเวศน์ของการวิจัย โดย สวทน.ได้รับมอบหมายให้ ศึกษาและผลักดันกฎหมายส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการให้ทุนวิจัยของเงินงบประมาณภาครัฐโดยเปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่นในการนำผลงานวิจัยที่เกิดจากเงินงบประมาณของภาครัฐไปใช้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมและยังส่งเสริมให้นวัตกรสามารสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้มากขึ้น
4. การจัดงาน ซีอีโอ อินโนเวชั่น ฟอรั่ม เพื่อประกาศข้อมูล สถิติ และความก้าวหน้าของการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความตื่นตัวด้านการทำวิจัยให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเชิญซีอีโอ ของบริษัทใหญ่ของประเทศไทยเข้าร่วมงาน ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ตระหนักถึงความสำคัญในการทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งภาครัฐยังได้ออกมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้มีการลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้น และหากสามารถรักษาระดับของการเพิ่มขึ้นของการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนได้ ประเทศไทยก็จะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้ในที่สุด
5. การส่งเสริมให้เกิดกลุ่มความร่วมมือด้านนวัตกรรมในด้านอุตสาหกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) และสร้างแพลทฟอร์ม ที่จะทำให้ชุดของนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น โครงการสเปียเฮด หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพและมาตรฐานลงสู่การปฏิบัติได้
6. การขยายผลโครงการสำคัญเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 อาทิ การขับเคลื่อนโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ซึ่ง รมว.วิทยาศาสตร์ ได้แนะนำให้ทำงานเชิงรุกโดยการชักจูงให้บริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมจากประเทศชั้นนำ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ให้มาตั้งฐานในด้านอาหารที่ประเทศไทย เพื่อดึงดูดให้บริษัทอื่น ๆ ตามมาลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งหากสามารถขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมอาหาร ได้สำเร็จ ก็จะสร้างความมั่นใจว่า โครงการอย่าง เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้