รมต.ท่องเที่ยวหนุนผนึกทุกส่วนชู
‘เที่ยวไทยอย่างรู้คุณค่าสู่มั่งคั่งยั่งยืน’
รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา หนุนบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เชื่อมโยงชุมชน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเพื่อทำให้ท่องเที่ยวไทยอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน ในโอกาสร่วมพูดคุยสบาย ๆ สไตล์รัฐมนตรีท่องเที่ยว ในหัวข้อ “ชวนเที่ยวไทยอย่างรู้คุณค่า สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืนในแบบไทยแลนด์4.0” จัดโดยมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ณ โรงแรมเอเวอร์กรีน เพลส กรุงเทพ เผยมุ่งใช้โอกาสที่เข้ารับตำแหน่งวางพื้นฐานทำท่องเที่ยวให้เป็นเครื่องมือของประเทศเพื่อสร้างรายได้ลดเหลื่อมล้ำ พร้อมเน้นพัฒนาด้านอุปทานใน 3 เรื่อง ทั้งเปิดศูนย์สร้าง-ซ่อม รับแจ้งปัญหาแหล่งท่องเที่ยวนำสู่การแก้ไขฟื้นฟู การพัฒนาคน-หลักสูตรและเปิดคลินิกท่องเที่ยว ชวนเชิญผู้ไม่มีและมีหน้าที่เช่น แผนกCSRบริษัทต่าง ๆ มาร่วมช่วยแก้ปัญหา พลิกโฉมสู่การเที่ยวแบบมีคุณค่า เที่ยวแล้วได้ทำความดี นำสู่การมาเที่ยวซ้ำ หลังพบมีนักท่องเที่ยว 64% ไม่ได้มาครั้งแรก แต่มาเพราะเห็นคุณค่าการท่องเที่ยวไทย
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นจำนวนมาก โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)เพิ่งต้อนรับนักท่องเที่ยวคนที่ 34 ล้านคน ของปี 2560 ไปเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวเดินทางจากกรุงไทเป ไต้หวัน และยังต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินทางมาประเทศไทยเป็นคนที่ 1 ล้านของปี 2560 คาดจะพบนักท่องเที่ยวคนที่ 35 ล้านได้ก่อนฉลองปีใหม่ 2561 ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแบบนี้และในช่วง 4-6ปีข้างหน้าตัวเลขอาจแตะถึง 40 ล้านคน
ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งตนได้ประกาศนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งมุ่งบูรณาการทำงานด้านการท่องเที่ยวและกีฬาให้สอดคล้องและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ นโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืนในด้านสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
รมต.ท่องเที่ยว กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามักทำงานท่องเที่ยวกันในด้านดีมานด์หรืออุปสงค์ แต่ตนจะเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวจากฐานซัพพลายหรืออุปทาน มุ่งทำให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือใหม่แห่งชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเน้นพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ
1. ด้านศูนย์แจ้งซ่อม เพื่อให้ประชาชนทั่วไปแจ้งหรือส่งภาพที่ไม่สวยงามหรือปัญหาของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เข้ามา เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาและฟื้นฟู แหล่งท่องเที่ยวให้สวยงามน่าเที่ยวต่อไป โดยประชาชนกลุ่มนี้จะเป็นเสมือนจิตอาสา ส่งภาพเข้ามา ซึ่งภาพเหล่านี้จะถูกนำมาลำดับชั้นว่า มีปัญหาหนักเบาหรืออยู่ในภาวะเสื่อมโทรมมากน้อยอย่างไร จากนั้นนำแยกประเภท เพื่อนำสู่สร้างซ่อมต่อไป
2.การสร้างคนและหลักสูตร เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการบริการ การท่องเที่ยวของประเทศ โดยมีความร่วมมือของหน่วยงานภาคการศึกษา นำอุตสาหกรรมมาตั้งโจทย์เพื่อทำเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้
3.เปิดคลินิกด้านท่องเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ให้ความรู้และให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่มีปัญหาให้และเชิญชวนคนที่ไม่มีหน้าที่และมีหน้าที่ บริษัท พนักงานแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ว่า หากต้องการจะทำกิจกรรม สามารถมาร่วมช่วยแก้ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวตามที่คลินิกนำเสนอได้ ซึ่งจะทำให้เป็นการท่องเที่ยวมีคุณค่า ไปเที่ยวแล้ว ยังได้ทำความดีไปด้วยพร้อมกัน เช่น กิจกรรมเก็บขยะ ปลูกต้นไม้และอื่น ๆ เป็นการท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา ที่กำลังเป็นกระแสสำคัญของโลก สำหรับในไทยจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
“หรืออย่างที่ “ตูน” บอดี้สแลม ออกมาวิ่ง ไม่ใช่วิ่งเพื่อรับบริจาคอย่างเดียว หากมองลึกๆแล้วเขามีเป้าหมายมากกว่านั้น เขาออกมาสร้างคุณค่า ทำให้การวิ่ง เป็นกีฬาที่ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไปด้วย ทำให้ผู้ยากไร้ได้มีโอกาสในการรักษาพยาบาล สิ่งที่ตูนทำ ไม่ใช่เพื่อการวิ่งหาเงิน แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือ ต้องการบอกว่า ให้มาออกกำลังกายกัน เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย”
พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมนโยบาย “สะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์และยั่งยืน” โดยใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานของ (Global Sustainable Tourism Council Index: GSTC) โดยมีหลายสิ่งที่เล็งเห็นว่า ต้องมีการปรับแก้ อาทิ ด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะผลักดันให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อเข้าแก้ปัญหาความแออัดด้านการขนส่งและภายในสนามบิน รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องห้องน้ำสาธารณะ ที่อาจใช้ประโยชน์จากห้องแถวในเขตเมืองเพื่อช่วยลดปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่ช่วยสร้างรายได้แก่ประชาชน อีกทั้งสนับสนุนการดึงเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย การประชาสัมพันธ์หรือทำธุรกิจ
นอกจากนี้ยังสนับสนุน การพัฒนาการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมดั้งเดิมภายในชุมชน ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลง
นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันท้องถิ่นและชุมชนยังมีความสำคัญ มีบทบาทเป็น ซัพพลายเชน ด้วย โดยการส่งผลผลิตส่งป้อนขายในท้องถิ่นอื่นๆ ดังการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน+3 ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนมกราคม ปี 2561 ณ เชียงใหม่ ซึ่งมีการกำหนดแจ้งโรงแรมและหน่วยงานต่าง ๆที่จะประชุมขอให้ไม่นำเข้าอะไรเลย ขอให้ใช้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ภายในท้องถิ่นเท่านั้นเพื่อให้ผู้มาร่วมประชุมได้พบเห็น ชิมอาหารที่เป็นเฉพาะของท้องถิ่นจริง ๆ ช่วยสร้างคุณค่าแก่สังคม ท้องถิ่นนั้นจริง ๆ
โดยภาพรวมแล้ว กล่าวได้ว่า ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพื่อทำให้นโยบายและเป้าหมายต่าง ๆ ประสบความสำเร็จได้ ทำให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณค่าในสายตาของนักท่องเที่ยว เมื่อมาเยือนแล้วประทับใจ กลับมาเที่ยวใหม่อีกครั้ง ซึ่งจากสถิติพบว่า มีนักท่องเที่ยว 64% ที่ไม่ได้มาประเทศไทยครั้งแรก แต่ชอบ มาเพราะเห็นคุณค่า รู้คุณค่าของการมาเที่ยวไทย