รมต.วิทย์ชมหมู่บ้านต้นแบบพิษณุโลก
วทน.พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากถิ่นเหนือ
รมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯลงพื้นที่ตรวจราชการพร้อมมอบนโยบายการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเยี่ยมชมนิทรรศการผลงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของหน่วยงานและเครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ และร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดภาคเหนือ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตลอดจนพบประประชาชนและตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานของหมู่บ้านต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์และการใช้พลังงานทดแทน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และพื้นที่ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวให้แนวทาง 3 ประเด็น ในการเตรียมคนสู่สังคมอุดมด้วยปัญญา คือ นำคนไทยสู่ศตวรรษ 21 ด้วยสังคมอุดมปัญญา ลดความเหลื่อมล้ำแก้ปัญหาความยากจนอย่างแม่นยำ ยั่งยืน และสร้างขีดความสามารถระดับประเทศแก่ Smart Up, SME จากนั้นเยี่ยมชมนิทรรศการหน่วยงานผลงานหน่วยงานและเครือข่ายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานถึงภาพรวมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากพื้นที่ภาคเหนือว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีนโยบายสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปพัฒนาในเชิงพื้นที่ (Area-based) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศให้ดีขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยนำศักยภาพของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด มาผนวกกับองค์ความรู้อันเกิดจากการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของพื้นที่
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีงบประมาณดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากกว่า 3,400 ล้านบาท สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ ได้ดำเนินโครงการด้าน วทน. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ตามความต้องการของพื้นที่ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP SMEs วิสาหกิจชุมชน การสร้างผู้ประกอบการใหม่ Start up การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เป็นต้น
หลังจากนั้น ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เข้าร่วมประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จังหวัดภาคเหนือ ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และลงพื้นที่หมู่ 3 ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพบปะประชาชน พร้อมตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของหมู่บ้านต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ และการใช้พลังงานทดแทน ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
สำหรับหมู่บ้านต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์และการใช้พลังงานทดแทน หมู่ 3 ตำบลพันเสา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในลักษณะบูรณการงานวิจัยที่สำเร็จแล้วมาถ่ายทอดให้กับชุมชน โดยการสำรวจความต้องการและศักยภาพของชุมชน เช่น เกษตรกร สภาพพื้นที่ ปัจจัยการผลิต และวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ซึ่งได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งสิ้น 4 กิจกรรม ได้แก่ (1) เทคนิคการทำเกษตรปลอดสาร เกษตรอินทรีย์ การลดการเผาของเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยการนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ การรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัย (GAP, GMP) (2) การผลิตถ่านอัดแท่งไร้ควันและน้ำส้มควันไม้ จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร (3) การผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงงานและใช้พลังงานทดแทน และ (4) การผลิตสมุนไพรกำจัดศัตรูพืช การลดต้นทุนในการทำเกษตรปลอดสารและเกษตรอินทรีย์ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ การใช้น้ำส้มควันไม้ และสมุนไพรกำจัดแมลง
ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบแห่งนี้พบว่า สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน และเมื่อจำหน่ายผลิตผลจากกิจกรรมต่างๆ แล้วสามารถสร้างรายได้ในครัวเรือนเฉลี่ย 6,000 – 8,000 บาทต่อเดือน สามารถสร้างเศรษฐกิจในชุมชนเฉลี่ย 268,500 บาทต่อเดือน โดยประเมินผลิตผลผักปลอดสาร รวมถึงสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของนักวิชาการหน่วยงานราชการ สถานศึกษา องค์กรส่วนท้องถิ่น เกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เกิดชุมชนต้นแบบที่มีการบูรณาการด้านเกษตรอินทรีย์ใน จ.พิษณุโลก โดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับการบริหารจัดการแบบครบวงจร เน้นการมีส่วนร่วมของ ทุกภาคส่วน ในท้องถิ่นและขยายเครือข่ายไปยังชุมชนอื่น เป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชนอื่นในเรื่องการบริหารจัดการที่มีการบูรณาการงานวิจัยของนักวิชาการ
การประสานความร่วมมือระหว่าง นักวิชาการ หน่วยงานรัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ชุมชน และที่สำคัญสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและถ่านอัดแท่ง ประมาณ 300 ต่อปี โดยปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม จะใช้เศษวัดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่แห้งเฉลี่ย 250 กิโลกรัม ดังนั้นจะใช้วัตถุดิบในการทำปุ๋ยประมาณ750,000 กิโลกรัม (750 ตัน) ต่อปี สามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศประมาณ 446.2 ตันต่อปี