กรมพัฒน์ฯร่วมสนง.กองทุนหมู่บ้าน
แปลงร้านชุมชนสู่ร้านสะดวกซื้อ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ลงพื้นที่ร้านค้าชุมชนทั่วประเทศ กระตุ้นความคิดต้องพัฒนาเท่านั้นถึงจะอยู่รอด เปลี่ยนภาพลักษณ์ร้านค้าให้ดูดี ใช้การบริหารจัดการแบบใหม่จูงใจลูกค้าให้เข้าร้าน มั่นใจถ้าร้านค้าชุมชนอยู่ได้เศรษฐกิจฐานรากไทยเติบโตแน่นอน
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เดินหน้าสร้างศักยภาพให้ร้านค้าชุมชนไทยเข้มแข็ง เพื่อสร้างฐานรากของเศรษฐกิจให้เติบโตตั้งแต่ระดับชุมชนสะท้อนไปถึงภาพรวมระดับประเทศ โดยกรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) พัฒนาร้านค้าชุมชนภายใต้กองทุนหมู่บ้าน โดยนำแนวคิดการบริหารจัดการร้านค้าสมัยใหม่มาใช้ในการปรับร้านค้าชุมชนให้มีความทันสมัยทัดเทียมกับร้านสะดวกซื้อชั้นนำ
อธิบดี กล่าวต่อว่า “กรมฯ ได้ดำเนิน ‘โครงการเสริมสร้างศักยภาพร้านค้าชุมชนไทย’ โดยได้สร้างความรู้พื้นฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจจำนวน 234 ร้าน ที่เป็นเจ้าของร้านค้าชุมชนไทยเกี่ยวกับแนวคิดการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อกระตุ้นให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัว ซึ่งมีกระบวนการให้ความรู้อย่างเข้มข้นแก่ร้านค้าชุมชนที่อยู่ในการดูแลของกทบ.
โดยมีรูปแบบการดำเนินงานที่บริหารจัดการกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสินค้าส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในร้าน และคืนให้แก่สมาชิกในรูปแบบปันผลทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในชุมชนที่คล่องตัว มีร้านค้าที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็น ‘ร้านค้าชุมชนต้นแบบ’ จำนวน 110 ร้าน แบ่งเป็นภาคเหนือ 33 ร้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 27 ร้าน ภาคกลาง 25 ร้าน และภาคใต้ 25 ร้าน
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญจะลงพื้นที่จริงเพื่อปรับภาพลักษณ์ของร้านทั้งหมดให้สวยงามและทันสมัย ซึ่งจะเห็นความแตกต่างได้ทันทีภายหลังเสร็จสิ้นการปรับแต่งร้าน พร้อมให้คำแนะนำแบบต่อตัวด้านการตลาด การจัดการโลจิสติกส์และสินค้าคงคลัง การนำข้อมูลไปใช้เพื่อการตัดสินใจทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดการเรียนรู้การบริหารร้านค้าชุมชนในมุมมองใหม่ๆ และนำข้อแก้ไขไปปรับใช้กับการทำธุรกิจได้สอดคล้องกับปัญหาที่ประสบอยู่จริง
“สิ่งสำคัญของความร่วมมือระหว่างกรมฯ กับกทบ. ในครั้งนี้จะช่วยให้ร้านค้าชุมชนได้เห็นถึงความสำคัญในปรับตัวให้สามารถทำธุรกิจได้ทัดเทียมร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันได้กระจายเข้าสู่พื้นที่ชุมชนเป็นจำนวนมาก และมีผลให้ร้านค้าที่ยึดหลักการค้าขายแบบเดิมๆ จากรุ่นสู่รุ่นหรือมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีอาจต้องปิดกิจการไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในระดับรากหญ้าได้
ดังนั้นเพียงแค่การปรับภาพลักษณ์ของร้านค้าและทัศนคติของเจ้าของร้านค้าชุมชนให้ใส่ใจต่อการพัฒนาร้านค้าชุมชนก็จะเกิดผลดีต่อองค์รวมในเศรษฐกิจระดับฐานรากได้อย่างแน่นอน จะเห็นได้จากตัวอย่างความสำเร็จของร้านต้นแบบที่พัฒนาแล้ว
สำหรับต้นปีหน้ากรมฯ จะพัฒนาร้านค้าชุมชนตามโครงการนี้ร่วมกับกทบ. ต่อโดยมีเป้าหมายกว่า 1,500 ร้านค้า ก่อนที่จะผลักดันให้ร้านค้าชุมชนสามารถขายสินค้าผ่านออนไลน์ได้ต่อไป ” อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด