สกว.จับมือภาครัฐ-เอกชนดันไทย
ฮับผลิตชิ้นส่วน-วิจัย-ซ่อมอากาศยาน
สกว.จับมือภาครัฐ-เอกชน ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วยงานวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างกำลังคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกตามเป้าหมายของรัฐบาลและลดต้นทุนของสายการบิน เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สูง
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า สำนักประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ สกว. ได้จัดสัมมนา “การยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานด้วยงานวิจัยและพัฒนา” เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านปัญหา โอกาส และแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน รวมถึงสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและนักวิจัยผู้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาโจทย์วิจัยต่อไป โดยมีวิทยากรเข้าร่วมบรรยาย 3 ท่าน ได้แก่ เรืออากาศโทรณชัย วงศ์ชะอุ่ม ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรลส์ รอยซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้อุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง มีมูลค่าสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 12-15 ของรายได้จากการบิน อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องร้อยละ 3.8 ต่อปีในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2014-2024) โดยสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation: ICF) คาดการณ์ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงทั่วโลกจะสูงถึง 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 จาก 6.21 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014
ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ระบุว่า อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานก็เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง และมีความต้องการชิ้นส่วนอากาศยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก ICF พบว่าสายการบินมีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อชิ้นส่วนอากาศยานจากองค์กรขนาดใหญ่ (Original Equipment Manufacturer: OEM) สูงถึง 3.2 หมื่นล้านเหรีญสหรัฐในปี 2015 หากสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรให้สายการบินได้อย่างมาก ด้วยการใช้ชิ้นส่วนอากาศยาน (Parts Manufacturer Approval: PMA) ซึ่งได้รับการรับรองโดยสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration) แทนการสั่งซื้อชิ้นส่วนอากาศยานจากองค์กรขนาดใหญ่ OEM จะทำให้ลดต้นทุนได้ถึงร้อยละ 25-45 ของต้นทุนเดิม
สำหรับแนวโน้มตลาดชิ้นส่วนอากาศยานทางเลือกอื่น ๆ ในปัจจุบัน มีมูลค่ามากถึงร้อยละ 50 ของชิ้นส่วน OEM ซึ่งมีรายได้ 2.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้หน่วยวิจัยบริษัท Sandler คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนประเภท PMA จะเติบโตร้อยละ 7.95 ตลอดระยะเวลา 5 ปี (ปี 2014 – ปี 2019) และยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 มูลค่าทางเศรษฐกิจของชิ้นส่วนอากาศยานประเภท PMA จะมีมูลค่ารวม 581.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพและแนวทางการพัฒนาของประเทศไทย ในปัจจุบันกองทัพเรือไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์บัส ได้ร่วมมือกันการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอู่ตะเภา (MRO Campus) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวประกอบไปด้วยการซ่อมบำรุงอากาศยานขั้นลานจอด (Line Maintenance), ศูนย์การซ่อมโครงสร้างวัสดุผสม(Composite Structure Repair Center), โลจิสติกส์, ศูนย์พ่นและทำสีเครื่องบิน (Painting shop) และศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) อย่างไรก็ตามการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานจำต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคน การสร้างความร่วมมือภายในและระหว่างประเทศ ศักยภาพของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนานวัตกรรมและการบริการ เป็นต้น”
ในส่วนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ผู้บริหาร สกว. กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน Aerospace Standard-AS9100 เพียง 26 หน่วยงาน ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มี 119 หน่วยงาน และประเทศมาเลเซียมี 60 หน่วยงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการไทยในด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีในการผลิต
“จากข้อมูลดังข้างต้นจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุง และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุนของสายการบินได้อย่างมาก ประกอบกับศักยภาพทางกายภาพของไทยที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในระดับภูมิภาคแล้ว ดังนั้นการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลให้เกิดขึ้นในประเทศได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตนเองผ่านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก การสัมมนาในครั้งนี้จะทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคฺที่จะนำไปสู่การกำหนดประเด็นวิจัยในการสนับสนุนทุนวิจัยของชุดโครงการอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุง และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคต่อไป” รศ. ดร.พงศ์พันธ์กล่าวสรุป