สุพรรณฯจัดโรดโชว์5จุดทั่วไทย
มหกรรมสินค้า-ท่องเที่ยว19จ.ภาคกลาง
by ThinSiam DotCom · Published · Updated
จังหวัดสุพรรณบุรี จัดงาน “มหกรรมสินค้าและบริการท่องเที่ยว ของดี ๑๙ จังหวัดภาคกลาง” ในกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวRoad Show /Table top Sale นำผู้ประกอบการ ๑๐๐ ราย จากจังหวัดสุพรรณบุรีและ ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ไปโรดโชว์ จัดแสดงและจำหน่ายทั่วประเทศ ใน ๕ จุด ได้แก่ พิษณุโลก นครราชสีมา กรุงเทพฯ สุราษฎร์ฯและสุพรรณฯ หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวสุพรรณฯและภาคกลาง ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์OTOP คุณภาพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งชุมชน พัฒนาการจังหวัดสุพรรณฯเผย เฟ้น 42 หมู่บ้านที่มีศักยภาพพัฒนาใน “โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” รออนุมัติงบฯมูลค่า 105 ล้านบ. คาดผ่านขั้นตอนพิจารณาแล้วเสร็จราวเดือนเม.ย.
นายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมสินค้าและบริการท่องเที่ยว ของดี ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ต้องขอกล่าวว่า ทางจังหวัดสุพรรณบุรีและอีก ๑๙ จังหวัดภาคกลาง นับว่ามีความพร้อมเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยจังหวัดสุพรรณบุรี รวมถึงอีก ๑๙ จังหวัดนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเป็นที่ดึงดูดใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเส้นทางตามรอยพระบาท และการจัดประชุมสัมมนา เป็นต้น พร้อมทั้งความหลากหลายในสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น จังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาช่องทางการตลาดและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว Road Show/Table top Sale ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ได้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
สำหรับการจัดงานมหกรรมสินค้าและบริการท่องเที่ยว ของดี ๑๙จังหวัดภาคกลาง อยู่ภายใต้ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตและสันทนาการ ของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำผู้ประกอบการจำนวน ๑๐๐ ราย จากจังหวัดสุพรรณบุรีและ ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ไปจัดแสดงและจำหน่ายทั่วประเทศ ใน ๕ จุดดำเนินการ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีความสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดสุพรรณบุรี และ ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ด้วยการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการท่องเที่ยว รวมไปถึงตัวผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง
ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมและรูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวเสริมสร้างโอกาสและแรงจูงใจ เพื่อการพัฒนาการค้าและการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคกลางอย่างตรงจุด
ด้าน นางสาวสุวรรณา ตรีสิทธิเดช พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเสริมว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้า OTOP ของประเทศ เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ เน้นคุณภาพ และการตลาดพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP และผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ให้มีความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และการตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนและผลักดันสินค้า OTOP ของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป และนักท่องเที่ยว
จนสามารถให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ เป็นผู้นำในการพัฒนาและต่อยอดสินค้าในการที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกๆ ด้าน ซึ่งในขณะนี้ สินค้า OTOP ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถือว่ามีความหลากหลาย โดดเด่น และสามารถตอบสนองตลาดได้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ เพิ่มช่องทางจำหน่าย และเปิดโอกาสพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
“หลังจาก โครงการโอท็อปเริ่มขึ้นในปี 2544 มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จนปัจจุบันมีสินค้าโอท็อปของสุพรรณบุรีสามารถขึ้นไปขายบนสายการบินไทยได้แล้ว ได้แก่ ผ้าด้นมือและทองม้วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สินค้าโอท็อปสุพรรณบุรีได้รับการรับรองมาตรฐานและมีอีกจำนวน 17 ผลิตภัณฑ์จาก 1,130 ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเลือกพัฒนาต่อยอดในระดับโลก
นอกจากนี้ตาม “โครงการไทยนิยม ยั่งยืน” ที่รัฐบาลต้องการให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ท่องเที่ยว ทางกรมการพัฒนาชุมชนผลักดันโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี “หมู่บ้านโอท็อปนวัตวิถี” โดยคัดเลือกหมู่บ้านที่มีศักยภาพเพื่อส่งเสริมพัฒนา ซึ่งในส่วนจ.สุพรรณบุรีคัดเลือกแล้ว 42 หมู่บ้านและของบประมาณเป็นมูลค่า 105 ล้านบาท อันเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณเพิ่มเติมปี 2561″
นางสาวสุวรรณาอธิบายว่า “งบประมาณเพิ่มเติมปี 2561 มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท รัฐบาลจัดสรรเป็น 2 ส่วน คือ 1 . ชำระหนี้เป็นมูลค่า 50,000 ล้านบาท
ส่วนที่2. จำนวน 1 แสนล้านบาท แบ่งไปพัฒนา 3 อย่างกล่าวคือ 2.1 พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 35,000 ล้านบาท มอบแก่คนจนที่ลงทะเบียนคนจน ซึ่งในพื้นที่จ.สุพรรณฯมีประมาณ 1.2 แสนคน จากยอด 14 ล้านคนของทั้งประเทศ ,2.2 เป็นงบประมาณพัฒนาพื้นที่ 34,500 ล้าน โดยแบ่งให้กระทรวงมหาดไทย พัฒนาชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งงบประมาณที่ทางสุพรรณฯขอไป 105 ล้านจะอยู่ในส่วนนี้ และ 2.3 งบประมาณสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) 20,000 ล้านบาท และ2.3.พัฒนาด้านการเกษตร จำนวน 35,000 ล้านบาท ทั้งนี้งบประมาณดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอนกว่าจะเรียบร้อย คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนเมษายน”
นายวิรัติ แข็งขัน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน “มหกรรมสินค้าและบริการท่องเที่ยว ของดี ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ในกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว Road Show/Table top Sale นั้น ได้นำผู้ประกอบการใน ๑๙ จังหวัดภาคกลาง จำนวน ๑๐๐ราย เดินทางไปแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ใน ๕ จุดดำเนินการ เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดสุพรรณบุรีและกลุ่มจังหวัดภาคกลางในเชิงรุก ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ซึ่งผู้ประกอบจำนวน ๑๐๐ ราย นี้จะมีสินค้า ผลิตภัณฑ์ เด่นที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดแต่ละชุมชนมาจัดแสดง โดยครอบคลุมประเภทธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจที่พัก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจสมาคมขนส่ง ธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการ และธุรกิจนันทนาการและสันทนาการ
ทั้งนี้ ๕ จุดดำเนินการ จะจัดงานจุดละ ๓ วัน ดังนี้
วันที่ ๙-๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ลานกิจกรรมด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาพิษณุโลก
วันที่ ๑๖-๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ โคราช ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซานครราชสีมา
วันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น ๒ อาคารรัฐประศาสนภักดี
(อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
วันที่ ๙-๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ เอสอาร์ที ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาสุราษฎร์ธานี
วันที่ ๒๓-๒๕ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ บริเวณลานด้านข้างห้างสรรพสินค้าโรบินสันสุพรรณบุรี
ในส่วนของกิจกรรมภายในงานแต่ละจุดดำเนินการ ทั้ง ๕ ครั้งจะคึกคักไปด้วยบรรยากาศการท่องเที่ยวในรูปแบบนิทรรศการและเต็มไปด้วยสินค้าของดีจาก ๑๙ จังหวัดภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย สินค้า OTOP อาหาร ของฝาก ของที่ระลึก ที่พัก รวมถึงการแสดงที่ศิลปะพื้นบ้าน การแสดงดนตรี และการแสดงจากศิลปินนักร้องดัง นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย และซื้อสินค้าในราคาลดพิเศษอีกด้วย
“เชิญชวนพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะไปจัดงานมาเที่ยวชม เลือกซื้อสินค้าของดีภาคกลางที่เราได้ยกขบวนสินค้าและบริการท่องเที่ยวไปให้คุณได้ช้อปกันถึงที่ งานนี้เข้าชมฟรีตลอดงาน”
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก-วิทยา ตั๋นเจริญ