ครูอาสา “บ้านรำไทย ดอนเมือง”
อนุรักษ์วัฒนธรรม “รำไทย” ให้คงอยู่
เมื่อเอ่ยถึง “บ้านรำไทย ดอนเมือง” เชื่อว่า น่าจะคุ้นหูคุ้นตากันอยู่บ้าง เพราะ “ครูพร ” ได้พาลูกศิษย์ออกแสดงเพื่อเผยแพร่วิถีรำไทย วัฒนธรรมไทยที่งดงามตามงานสำคัญต่าง ๆ อยู่เสมอและเพื่อสะสมประสบการณ์ให้กับลูกศิษย์ลูกหา ที่มีมากหน้าหลายตา แม้จะต่างเพศและวัย ทว่ามีใจเดียวกัน นั่นคือ การหลงใหลในเสน่ห์ของ การร่ายรำแบบไทย ๆ
“ครูพร ” -นางวัชรีพร ลีลานันทกิจ คุณครูร่างเล็กบอบบาง แต่หัวใจเต็มไปด้วยรักและมุ่งมั่น นำวัฒนธรรมดี ๆ ของไทยการร่ายรำไทย ลิเก โขน มาถ่ายทอดให้บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ด้วยมองว่า เป็นหนทางที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยนี้ไว้ให้คงอยู่สืบไปได้
“ครูพร ” บอกเล่าชีวิตในวัยเด็กที่ทำให้ผูกพันกับศิลปะรำไทยว่า ตนมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดพะเยา โดยในวัยเด็กได้ติดตามคุณยายไปดูลิเกเป็นประจำ เห็นนางเอกลิเกแต่งตัวสวยและรำสวย จึงอยากแต่งตัวสวยๆและรำเป็นด้วย ดังนั้นพอครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ จึงขอคุณพ่อเรียนรำบ้าง คุณพ่อจึงจ้างครูนาฏศิลป์มาสอนรำไทยที่บ้าน จึงได้เรียนรำไทยตั้งแต่เด็กเรื่อยมา
เมื่อโตขึ้นยังคงเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ซ้อมรำทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และมีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนรำไทยด้วย จึงอาสาช่วยครูสอนรำไทย ช่วยสอนน้องๆรำด้วย แต่เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ค่อยสนใจรำไทยมากนัก เพราะเห็นว่า รำไทยเป็นของโบราณ น่าเบื่อ ส่วนใหญ่จะนิยมการเต้นมากกว่าการรำ จากเหตุดังกล่าวทำให้ตนคิดอยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จักรำไทยมากขึ้น
“ในยุคที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ คนส่วนใหญ่นิยมเล่นอินเตอร์เน็ตกันมากมาย จึงมีความคิดว่า ถ้าเราเอาเรื่องของรำไทยเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต คนอื่นจะรู้จักรำไทยมากขึ้น และหวังว่าจะเป็นจุดประกายให้บางคนนึกชอบและสนใจรำไทยมากขึ้น จึงไปสมัครเรียนการเขียนเว็บไซต์ และเริ่มเขียนเว็บไซต์ รวบรวมความรู้ทางด้านรำไทยจากตำราต่างๆ รวบรวมเนื้อเพลง รูปภาพ และแกะท่ารำต่างๆลงเว็บไซต์
นอกจากนี้ยังลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพริ้นเตอร์ เครื่องสแกน กล้องถ่ายรูป ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีดิจิตอล ถ่ายรูปแล้วต้องเอาฟิล์มไปล้างได้รูปกระดาษแล้วมาสแกนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการทำงานที่ซับซ้อนยุ่งยาก แต่ก็ตั้งใจทำให้ถึงจุดมุ่งหมาย”
จากความพยายามมุ่งมั่นอุตสาหะทำเวบไซต์บ้านรำไทยเป็นเวลานานของครูพร ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จได้เวบไซต์เผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ในชื่อว่า “www.banramthai.com” มีคนเข้ามาดูและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
“รู้สึกดีใจมากที่ทำสำเร็จ แต่ยังมีอีกหนึ่งความหวังที่อยากทำคือ การเป็นครูสอนรำไทย เพราะหลังจากคนดูเว็บบ้านรำไทยแล้ว ได้บอกว่า อยากเรียนรำไทย จึงได้ตัดสินใจเปิดสอนรำไทยในเวลาต่อมา โดยใช้สถานที่บ้านที่ดอนเมืองและครั้งแรกที่เปิดสอนนั้น สอนให้ฟรีแก่คนรู้จักก่อน”
จากวันนั้นถึงวันนี้ ครูพรได้เปิดสอนรำไทยมาประมาณ 10 ปีแล้ว สอนเฉพาะวันอาทิตย์และสอนฟรีในช่วงปิดเทอมและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่สนใจรำไทยได้มาเรียนรำไทย เป็นการเผยแพร่รำไทยและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยได้ ครูแป๊ะ -นายนรารัตน์ อิ่มวงศ์ ซึ่งปัจจุบัน ทำงานอยู่ที่ โรงเรียนอยู่เย็นวิทยา ถ.บางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ตำแหน่งคือครูสอนวิชาพิเศษนาฏศิลป์ไทยมาช่วยสอนโขนให้แก่เด็ก ๆ ด้วย
“บ้านรำไทย ดอนเมือง” มีความโดดเด่นตรงที่มีการเรียนการสอนแบบกันเองเหมือนเป็นลูกหลาน นักเรียนยังได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครอง โดยที่ครูพรยังพยายามหาเวทีงานต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้ไปแสดงความสามารถ ในขณะที่บรรดาผู้ปกครองก็มีส่วนร่วม ไปช่วยแต่งตัวแต่งหน้าให้แก่บรรดาลูก ๆ
สำหรับค่าเรียนที่ผู้ปกครองสนับสนุน ครูพรได้นำไปซื้อชุดรำให้นักเรียนได้ใส่รำในงานต่างๆ เพื่อเวลามีงานแสดง ผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดหรือเช่าชุด เพราะครูไม่ได้ทำเป็นการค้า ทำด้วยใจเพื่อให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข
เมื่อนักเรียนได้แสดงในงาน บางงานจะมีงบค่าใช้จ่ายสนับสนุน ครูพรจะจัดแบ่งให้แก่นักเรียนที่ไปแสดงเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา เป็นค่าขนม และเป็นการสร้างรายได้เล็กๆน้อย ๆ ให้กับนักเรียน
ที่สำคัญ “บ้านรำไทย ดอนเมือง” ยังเปิดโอกาสให้เรียนกันได้ทุกวัย ไม่จำกัดอายุ เรียนได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติก็สอนได้หมด โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทดลองเรียนก่อนได้ หากไม่สะดวกเรียนวันอาทิตย์ ก็สามารถเรียนฟรีได้ในวันหยุดนักขัตฤกษ์
อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป โดยครูพรจะสอนนักเรียนให้รำไทยเป็นรำที่สวยงามและถูกต้อง การจัดหางานให้นักเรียนไปแสดงโชว์ต่อสายตาบุคคลภายนอก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการช่วยเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยสู่สายตาชาวโลก
นอกจากนี้นักเรียนเองยังได้ประโยชน์จากการรำไทย ทำให้มีสมาธิดีขึ้น มีความจำดีขึ้น มีบุคลิกภาพที่ดี และยังเป็นความสามารถพิเศษที่สามารถนำไปใช้ในการสอบเข้าโรงเรียน หรือใช้ในการประกวดหรือนำไปใช้แสดงในงานต่างๆ ได้ค่าตอบแทนเป็นทุนการศึกษาและเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
จากความพยายามของครูพรและเหล่าลูกศิษย์ เป็นความหวังว่า จะช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมการร่ายรำไทยไว้ได้ เพราะบรรดาลูกศิษย์จะสามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้ไปสู่เยาวชนรุ่นหลัง รุ่นลูกรุ่นหลาน รักษาไว้ไม่ให้สูญหายต่อไป…
สำหรับผู้สนใจสามารถไปดูรายละเอียดหลักสูตรได้ที่เวบไซต์ “www.banramthai.com”
ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก-https://www.facebook.com/banramthai- เพชร โตมร