GIT จัดแข่งออกแบบเครื่องประดับ
ชูไทย “ฮับการค้า-ผลิตอัญมณีโลก”
หลังจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิด “งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ” หรือ “Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 61” ไปอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “Heritage & Craftsmanship” หัตถศิลป์มรดกทางวัฒนธรรม อวดงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือไทย โดยงานมีถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในโอกาสนี้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้เปิดตัว “โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 12” ชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลมูลค่ากว่า 315,000 บาท ในหัวข้อ “The Pearl of Wisdom – Illumination from under the Surface” เพื่อส่งเสริมไข่มุกเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับสากล อีกทั้งสนับสนุนงานด้านการออกแบบเครื่องประดับควบคู่พัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก มุ่งเป็น “ศูนย์กลางการค้า-ผลิตอัญมณีโลก”
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก เพราะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานของประเทศไทย โดยเป็น 1 ใน 10 ลำดับสินค้าที่มีการส่งออกและสร้างการเติบโตให้แก่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งตัวเลขขยายตัวเพิ่มขึ้น 8% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา และไทยกำลังจะประกาศตัวว่า เราเป็น “ศูนย์กลางการค้าการผลิตอัญมณีโลก” ซึ่งสิ่งนี้รวมถึงการจะรักษาตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ขยายตัวนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าเราไม่มีเรื่องของการออกแบบหรือดีไซน์ เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
“สินค้าอัญมณี รวมทอง มีสัดส่วน45% ของการส่งออก ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 3 รองจากยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ขายดีอันดับ1 ได้แก่ เครื่องเงินเครื่องประดับทอง ตามด้วยพลอย อัญมณีที่มีพลอยผสมและมุก ยอดขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศมีรายได้หมุนเวียนมากกว่าล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 8-9% ของจีดีพี จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมาก”
ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยเป็นฮับการค้าอัญมณีและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน คือ การมีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมการผลิตอันทันสมัย ควบคู่กับฝีมือที่ประณีตงดงาม อีกทั้งผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน นิยมชมชอบแฟชั่น ที่มีความแปลกใหม่ มีทิศทางและความเคลื่อนไหวตลอดเวลา สถาบันจึงต้องพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อาทิเช่น ด้านอัญมณีศาสตร์ ด้านการออกแบบ และด้านการตลาด ทั้งยังต้องสร้างความตื่นตัวให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่ในวงการอัญมณีและเครื่องประดับไทย
“สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับความสำคัญจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ในภูมิภาคก็มีความสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจของสถาบันฯพบว่า มี 15 จังหวัดที่มีความเชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ละภูมิภาคจะมีความพิเศษ มีเอกลักษณ์และมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน เช่น ภาคเหนือ สุโขทัย เชียงใหม่ น่าน ภาคอิสานมีสุรินทร์ นครราชสีมา ภาคตะวันออก มีจันทบุรี ตราดและภาคใต้ มีภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญด้านอัญมณีมาเป็นหลายร้อยปี อันนี้คือจุดแข็งของประเทศไทย ดังนั้นการที่รัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการขายอัญมณีของโลกนั้น ถือว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว
แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้เอกลักษณ์ อัตลักษณ์นั้นคงอยู่ ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความร่วมสมัยและขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นภารกิจของสถาบันฯ จะเห็นว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทยเขาจะชื่นชมมากเมื่อไปดูงานในภูมิภาค เพราะของเราทำด้วยมือและเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ถ้าในต่างประเทศของที่ทำด้วยมือมีราคาแพงมาก จากตรงนี้ถ้าเรายังคงทำด้วยมือเราจะขายได้อย่างแน่นอน ขายเป็นเอกลักษณ์ได้ แต่หากจะทำเป็นอุตสาหกรรมจะต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือมาช่วย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมีการพัฒนา และเรามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างในงาน “Bangkok Gems and Jewelry Fair” ครั้งนี้ มีการนำผลงานที่เราไปพัฒนาใน 4 จังหวัด คือ เพชรบุรี สุโขทัย เชียงใหม่และนครราชสีมา มาแสดง เช่น ที่ด่านเกวียน โคราช ทำอย่างไรดินเผาธรรมดา เครื่องปั้นดินเผา จะขยายไลน์ออกมาเป็นเครื่องประดับได้ โดยดินด่านเกวียนมีลักษณะพิเศษได้การรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ถ้านำมาทำเครื่องประดับจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ช่วยขยายชนิดของสินค้า ช่วยเพิ่มรายได้แก่ชุมชนและยังเป็นสินค้าแฟชั่นที่คนสามารถซื้อหาได้ ทางสถาบันฯไปเชียงใหม่ก็ไปช่วยพัฒนาแบบ ทำให้มีแบบใหม่ ๆ มีความร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งต้องมีการพัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ ในจังหวัดที่เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ โดยปีนี้คาดว่าจะไปได้ 7 จังหวัดและปี2562 จะพัฒนาเพิ่มอีก ทำให้ได้นักออกแบบหน้าใหม่ ๆ เกิดผู้ประกอบการที่มีความรู้มากขึ้น สามารถช่วยให้ภูมิภาคต่อยอดการผลิตได้”
นางดวงกมล กล่าวต่อว่า ทางสถาบันฯจึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการออกแบบเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สนับสนุนการออกแบบและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งทางสถาบันฯ มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ ที่จะสอนนักออกแบบทุกคน และยังเป็นการท้าทายนักออกแบบทุกคน รวมนิสิต นักศึกษาและนักออกแบบมืออาชีพที่จะร่วมกันแสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการที่ไร้ขอบเขตเพื่อนำไปสู่เรื่องราวหลาย ๆ อย่างทั้งการสนับสนุนผลิตและการสร้างแรงงานในอุตสาหกรรม โดย “โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับ ครั้งที่ 12” ชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (GIT’s World Jewelry Design Awards 2018) ในปีนี้ให้ความสำคัญกับ “ไข่มุก” ภายใต้แนวคิด “The Pearl of Wisdom – Illumination from under the Surface” หลังจากในปี 2560 ที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการออกแบบ “ทับทิม” แล้ว ประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีความสำคัญในด้านอัญมณี แต่ปีนี้เน้นภาคใต้กัน ซึ่งมีมุก และมีการทำอีโคฟาร์มมิ่ง
โดยไข่มุกแบ่งได้เป็นไข่มุกธรรมชาติและไข่มุกเลี้ยง และไม่ได้มีเพียงสีขาวเท่านั้น ยังมีสีชมพู สีเงิน ครีม เหลือ เขียว น้ำเงิน ม่วง เทาและดำ โดยแหล่งมุกธรรมชาติที่สำคัญมาจากอ่าวเปอร์เซีย อินเดียและศรีลังกา ส่วนมุกเลี้ยงมีแหล่งสำคัญอยู่ที่จีน ออสเตรเลีย เฟรนช์โปลินีเซีย ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ส่วนไทยมีแหล่งเลี้ยงมุกในหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานีและกาญจนบุรี ปัจจุบันไข่มุกมีความต้องการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก จึงเป็นหนึ่งในอัญมณีส่งออกที่สำคัญของไทย โดยสามารถสร้างมูลค่าได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
“ไข่มุกถือเป็นอัญมณีอินทรีย์ที่ได้รับความนิยม มีรูปทรงสีสันหลากหลาย สามารถมาใช้คู่กับเครื่องแต่งกายได้มากมาย ใช้ได้ทุกฤดูกาล ทุกเพศทุกวัยและขายได้ราคาสูง ระดับหลายล้านก็มี นอกจากไข่มุกแล้ว ยังมีเปลือกมุกที่ทำอย่างไรถึงจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในปีนี้มีข่าวดี คือ ทางเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศสนใจจะมาร่วมด้วย”
ทั้งนี้ “การประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 12” เปิดรับผลงานแล้วตั้งแต่วันนี้ – 28 พ.ค. 61 สำหรับผู้สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวด หลังปิดรับสมัคร จะตัดสินรอบคัดเลือกในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 จากนั้นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้จะคัดเลือก 20 แบบวาดที่สามารถนำมาผลิตได้จริง และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดท้าย 5 คนจะได้ทำการผลิตเป็นชิ้นงานเครื่องประดับจริง จากนั้นจะมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและมอบรางวัลชนะเลิศในงาน Bangkok Gems &Jewelry Fair ครั้งที่ 62 ในเดือนกันยายน 2561 พร้อมจัดแฟชั่นโชว์แสดงเครื่องประดับที่ผลิตจากผลงานแบบวาด ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ส่วนผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัล 9,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 315,000 บาท
นอกจากนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการเวิร์คช็อปแนวทางในการส่งผลงานเข้าประกวดออกแบบ โดยอาจารย์ปวรัตถ์สรณ์ จอมพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของ GIT เวิร์คช็อปเทคนิคการเลือกซื้อไข่มุก โดย อาจารย์ อังกินันท์ (จันทร์ศศิธร) เชยประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบเครื่องประดับ GIT และเสวนา หัวข้อเทคนิคในการเลือกใช้สีของอัญมณีในการออกแบบเครื่องประดับเพื่อเพิ่มมูลค่าและความน่าสนใจ โดย อาจารย์ นิวัฒน์ สิงห์ชนะชัยกุล ที่ปรึกษาด้านการออกแบบเครื่องประดับ GIT ให้กับผู้ที่สนใจด้านการออกแบบอีกด้วย
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.git.or.th หรือ โทร. 02-634-4999 ต่อ 301-306, 311-313
ขอบคุณภาพประกอบหอยมุกจาก-https://news.nationalgeographic.com