พม.รณรงค์สร้างวินัยการออม
เตรียมพร้อมผู้สูงอายุคุณภาพยุค4.0
รมว.พม.เป็นประธานเปิดงานผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลไทยแลนด์ 4.0 นวัตกรรมความรู้ทางการเงินเพื่อสังคมผู้สูงอายุ ภายใต้แนวคิด “สร้างวินัยการออม ชีวิตพร้อมเมื่อสูงวัย” มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการสร้างวินัยการออมสำหรับคนทุกช่วงวัย ด้วยการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุที่มีคุณภาพ โดยมี ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในเครือข่ายบูรณาการคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม จำนวน 300 คน เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ชี้มีคนไทยเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพไม่ถึง 30% มี 36.7% ของวัยหลังเกษียณส่วนใหญ่ยังพึ่งรายได้จากบุตร มีเพียง 3.9% เท่านั้นที่พึ่งพารายได้จากการออม
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) คือการมีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลงเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้อง ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องของการวางระบบหรือรูปแบบการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการออม ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ภาคครัวเรือนได้ขยายตัวในปริมาณที่สูงอย่างก้าวกระโดด
จากผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2560 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพบว่า ปัจจุบันครัวเรือนไทยกว่าร้อยละ 91.1 ยังคงมีหนี้สินอยู่ และมีเพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้นที่ไม่มีหนี้สิน โดยครัวเรือนที่ยังมีหนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 32.4 เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาร้อยละ 30.5 เป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น บัตรเครดิต
ส่วนสถิติของบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มคน Gen Y หรือกลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงานใหม่ อายุ ต่ำกว่า 30 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นหนี้บัตรเครดิตและใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็น หนี้เสียเร็วขึ้นด้วย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มคนวัยนี้อาจมีการยับยั้งชั่งใจน้อยในการจับจ่ายใช้สอย
รวมทั้งยังพบด้วยว่า คนไทยที่มีหนี้เสียหรือมีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน โดยเฉพาะในกลุ่มอายุระหว่าง 29 – 30 ปี โดยมีอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ซึ่งไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้กองทุนให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยหนี้ต่อคนได้เพิ่มขึ้นจาก 70,000 บาทต่อคน ในปี 2553 เป็น 150,000 บาท ต่อคน ในปี 2559 นอกจากนี้ จากการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ทุกระยะ 5 ปี 10 ปีและ 15 ปี ที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่า คนไทยเตรียมความพร้อมน้อยมากหรือไม่เตรียมเลย
โดยผลการประเมินทั้ง 3 ช่วง พบว่าร้อยละของคนไทยเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งนับเป็นความท้าทายของประเทศไทยในการรับมือกับสังคมสูงวัยทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมโดยรวม
ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ในฐานะภาครัฐ ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมรณรงค์สร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมประชากรทุกช่วงวัย ให้มีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ ได้บูรณาการความร่วมมือภายใต้คณะทำงานประชารัฐ เพื่อสังคม (E6) ด้านการออมเพื่อการเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือในส่วนภาครัฐ โดยมี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก โดยงานครั้งนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมให้สังคมเกิดความตระหนัก และเกิดการออมในคนทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการเตรียมการและสร้างวินัยการออมเงินให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทุกระดับ เพื่อเป็นสูงอายุที่มีคุณภาพและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์เป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย นอกจากจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการระดมทุนให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุนแล้ว ยังมีอีกภารกิจสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน นั่นคือ การมุ่งสร้างรากฐานความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมวินัยการออม การวางแผนการเงินและการลงทุนให้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ขณะนี้ความท้ายทายของประเทศไทยคือ การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยในปี 2583 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 1 ใน 3 ของประชากร คิดเป็น 21 ล้านคนจาก 64 ล้านคน แต่ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) ปี 2557 พบว่า ในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังพึ่งรายได้จากบุตร 36.7% ทำงาน 33.9% และมีเพียง 3.9% เท่านั้นที่พึ่งพารายได้จากการออม นอกจากนี้ผลสำรวจสถานะการออมของคนไทยปัจจุบันยังพบว่า มีคนวัยทำงานเพียงประมาณ 15 ล้านจาก 40 ล้านคน ที่อยู่ในระบบการออมเพื่อวัยเกษียณ ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ แต่มูลค่าเงินออมเฉลี่ยต่อคนก็ยังอาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำหลังเกษียณ