ปส.เตรียมพร้อมเหตุฉุกเฉินนิวเคลียร์ฯ
ภายใต้พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ใหม่
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดสัมมนาเตรียมความพร้อมเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์-รังสี ภายใต้หลักเกณฑ์ พ.ร.บ. พลังงานนิวเคลียร์ฉบับใหม่ ให้แก่หน่วยงานงานกำกับดูแล หน่วยงานเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ และสถานประกอบทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อความเข้าใจตรงกันและดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันยามเกิดเหตุฉุกเฉิน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 120 คน
นายอารักษ์ วิทิตธีรานนท์ รักษาการผู้อำนวยการกองตรวจสอบทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับมอบหมายจาก ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไปเป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง การประสานงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ และหน่วยงานสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี ณ ห้องดอนเมือง 2 โรงแรม อมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
นายอารักษ์ เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งภัยคุกคามด้านความมั่นคงของประเทศที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสี เป็นเรื่องที่ต้องมีการเตรียมการป้องกัน และมีแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีสำหรับสถานประกอบการทางรังสีที่มีการดำเนินการผลิต มีไว้ในครอบครอง หรือใช้วัสดุกัมมันตรังสี และ/หรือเครื่องกำเนิดรังสี รวมทั้งการนำเข้า-ส่งออก หรือนำผ่านวัสดุกัมมันตรังสี และนำเข้าหรือส่งออกเครื่องกำเนิดรังสีไว้อย่างชัดเจน ปส. ซึ่งมีภารกิจในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านนิวเคลียร์และรังสี ได้จัดการสัมมนาเรื่องดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ให้แก่บุคลากรจากหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ และหน่วยงานสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี อาทิ ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ จำนวนประมาณ 120 คน
การสัมมนาในครั้งนี้ มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับทราบข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางรังสี ภายใต้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และแนวปฏิบัติสากลในการเตรียมความพร้อมและระงับเหตุฉุกเฉินทางรังสี นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการดำเนินการประเมินสถานการณ์และระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประสานงานเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานเจ้าหน้าที่ระงับเหตุ และหน่วยงานสถานประกอบการทางนิวเคลียร์และรังสี นับเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทราบและมีความเข้าใจตรงกัน เพื่อให้การปฏิบัติและการดำเนินงานในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีเป็นไปในทิศทางเดียวกันและเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประสานงานกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ 2418, 3612