เปิด “Thailand Tourism Directory”
แอป-เวบอัดแน่นข้อมูลเที่ยวทั่วไทย
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แกนนำร่วมหลายหน่วยงานตามแนวทางประชารัฐเปิดตัว Thailand Tourism Directory ในรูปเวบไซต์และแอปพลิเคชั่น บนมือถือ บริการอัดแน่นด้วยข้อมูลด้านท่องเที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด โดยเฉพาะข้อมูลเส้นทางเชื่อมโยงเมืองหลักสู่เมืองรอง เพิ่มประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย ปูทางกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ พร้อมบริการแล้ว 3 ภาษา ไทย อังกฤษและจีน ใช้ได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดตัว Thailand Tourism Directory ในรูปของเวบไซต์และแอปพลิเคชั่น พร้อมเสวนา ร่วมกับเหล่า Influencers มีชื่อในสังคมออนไลน์ ในหัวข้อ “ท่องเที่ยวไทยสุดคึก เวบและแอพฯไทยแลนด์ ทัวริซึ่ม ไดเรคทอรี่ร่วมบูมไทยโดดเด่นเหนือใครในเวทีโลก ช่วยแชร์เมืองไทยสนั่นโลกโซเชี่ยล” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นางสาวสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ,นายพชร เกรียงเกร็ด บล็อกเกอร์ดังแห่งยุค จากเพจ แบกกล้องเที่ยวและนางสาวสีรุ้ง พงษ์พานิช บล็อกเกอร์สาวสุดฮอตจากเพจ Unseen Tour Thailand ซึ่งได้รับความสนใจจากเหล่า Influencers เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า เวบไซต์และแอปพลิเคชั่น Thailand Tourism Directory เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านสื่อโซเชียล” โดยรวบรวมข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลในพื้นที่ ชุมชนท้องถิ่น ทั่วทั้ง 77 จังหวัด และมีศูนย์ปฏิบัติการ Digital Tourism ทั้งในส่วนกลางและส่วนจังหวัดของกระทรวงการท่องเที่ยวฯทำหน้าที่บริหารจัดการข้อมูลดิจิทัลให้มีคุณภาพ ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สามารถอ้างอิงแหล่งที่มาได้จากฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐ
ก่อนจะเผยแพร่ข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ www.thailandtourismdirectory.go.th และ Mobile Application ซึ่งให้บริการแล้วทั้ง2 อย่างรองรับ 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย อังกฤษ และจีน
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน – 29 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าของข้อมูลในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันจัดทำข้อมูลที่มีคุณภาพเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว และเส้นทางท่องเที่ยว เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อการบริการข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวของประเทศ (National Tourism Centralized Database for Services) ทำให้ขณะนี้มีข้อมูลท่องเที่ยวอยู่ในฐานข้อมูลรวมมากกว่า 3,000 รายการ และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ภายในเวบไซต์และแอปได้มีการกำหนดตราสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลในระบบ ดังนี้
ตราสัญลักษณ์ “Official” หมายถึง ข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับการตรวจสอบทางทะเบียนจากฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรงตามกฎหมาย
ตราสัญลักษณ์ “Verified” หมายถึง ข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับการยืนยันจากหน่วยงานรัฐ ผู้ดูแลข้อมูลโดยตรงในพื้นที่
ตราสัญลักษณ์ “Standard” หมายถึง มาตรฐานการรับรองต่าง ๆ ในด้านการท่องเที่ยว ที่หน่วยงานรัฐเป็นผู้ออกให้ เพื่อยืนยันความมีมาตรฐานด้านต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใน ณ ปัจจุบัน
Thailand Tourism Directory นอกจากให้ข้อมูลด้านท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้ว ยังเน้นนำเสนอข้อมูลเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากในเมืองหลักไปสู่เมืองรอง เพื่อเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายของการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่มีมากขึ้นกว่าเดิม นับเป็นการกระจายโอกาส กระจายรายได้ ไปยังชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และนอกจากมีข้อมูลท่องเที่ยวแล้ว ยังมีระบบรับแจ้งแก้ไขข้อมูล (Change Report) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการ ร่วมกันแจ้งปรับปรุงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบันมากที่สุดด้วย
“Thailand Tourism Directory จะมีข้อมูล ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลด้านการท่องเที่ยวใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะ เป็นส่วนหนึ่งของระบบ Digital Tourism Platform ใต้การบริหารของโครงการ Digital Tourism ซึ่งระบบนี้เป็น Platform กลางด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ที่มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัลเพื่อการบริการด้านการท่องเที่ยว โดยข้อมูลดิจิทัลใน Platform จะเป็นการเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง “ทุกคน” มีสิทธิ์เป็นผู้สร้างและปรับปรุงข้อมูลดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวนี้ให้เป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่องได้ (ALL User Generated Contents) เช่น การสร้างเรื่องราวด้านการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยว การรีวิวประสบการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังรวมถึงเจ้าของข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เจ้าของกิจกรรมการท่องเที่ยว เจ้าของที่พัก เจ้าของร้านอาหาร เจ้าของสินค้าในชุมชน หรือแม้แต่เจ้าของบริการด้านสุขภาพ ก็สามารถที่จะนำเข้าข้อมูลบันทึกเข้าในระบบ Platform กลางของประเทศได้ด้วยตนเอง และเมื่อข้อมูลดิจิทัลนั้น ผ่านกลไกการตรวจสอบของทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว ก็จะถูกนำเผยแพร่ต่อไป Platform นี้จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็น Platform ของมวลชนนั่นเอง”