รมช.อุตฯเยี่ยม2สถานประกอบการเพชรฯ
ตอกย้ำเสริมแกร่งSMEsแนวประชารัฐ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี ในโอกาสร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2561 เผยเตรียมหารือหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 ถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่วมหาทางออกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการผลิต
นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรี พร้อมหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ และร่วมหาทางออกปัญหาอุปสรรคในการดำเนินกิจการในลักษณะประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 13,881 ตารางกิโลเมตร โดยโครงสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ขึ้นอยู่กับภาคการผลิต 4 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาเกษตรการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจและการประมง สาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งและการค้าปลีก และสาขาการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพที่สำคัญ เนื่องจากมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงทั้งทางทะเล ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประวัติศาสตร์ ส่วนภาคการเกษตรมีพื้นที่ 3.26 ล้านไร่(คิดเป็น 37.55% ของพื้นที่กลุ่มจังหวัด)
สำหรับผลผลิตที่สำคัญ คือ สับปะรด มะพร้าว กล้วยหอมทอง ข้าว มะนาว กล้วยไม้ กุ้งทะเล โคเนื้อ และโคนม ทั้งนี้ ในปี 2559 มีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชาชน (GPP per capital)เฉลี่ยที่ 186,272 บาท /ปี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม โรงงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงสุดอยู่ที่จังหวัดนี้ด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งส่งออกอาหารทะเล
สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งแรกที่บริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวภายใต้แบรนด์”ข้าวตังสุคันธา” โดยบริษัทฯ ได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและได้มาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP นอกจากนั้น ยังได้สร้าง Outlet ขึ้นในพื้นที่หน้าโรงงานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะซื้อข้าวตังเป็นของฝาก และเป็นศูนย์กระจายสินค้า OTOP ในชุมชนด้วย
สำหรับการเยี่ยมชมสถานประกอบการแห่งที่ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปที่ยังศูนย์แปรรูปผลผลิตเกษตร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรละหานใหญ่สามัคคี สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรใน อ.บ้านลาด ที่ในอดีตต่างประกอบอาชีพทำนา และทำการเกษตรอื่น ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ เกษตรกรเหล่านี้จึงรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จ.เพชรบุรี ขึ้นอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ทั้งสองสถานประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อาหาร OPOAI การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ การใช้ IT ในการบริหารจัดการ การต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่ การสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ และยังได้เข้าร่วมในโครงการบริหารจัดการเกษตรครบวงจร และร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน (เน้นกลยุทธ์การตลาด) เป็นต้น
“กระทรวงฯอุตสาหกรรม ยังคงเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีเป้าหมายเพื่อยกระดับไปสู่ยุค 4.0 ที่มีศักยภาพ ผ่านมาตรการ 9 มาตรการ เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทย ซึ่ง 1 ใน 9 มาตรการ คือ การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน โดยจะพัฒนาศักยภาพชุมชนค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ทำแผนการพัฒนาและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน รวมทั้งผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรโดยมีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนให้มีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%ในปีนี้” นายสมชาย กล่าว
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กสอ. ยังคงเดินหน้าให้การส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีและร่วมในการขับเคลื่อน SMEs อย่างเข้มข้น โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ สามารถดำเนินการโครงการต่างๆ ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทั้งในส่วนของการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การสนับสนุนผู้ประกอบการเดิมมากกว่า 12,000 ราย รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอีกกว่า 3,000 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของสถานประกอบการในจังหวัดเพชรบุรีทั้งสองแห่งนี้ กสอ.ร่วมกับ สอจ.ในการส่งเสริมและพัฒนาด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพัฒนาคลัสเตอร์อาหาร OPOAI การยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ การใช้ IT ในการบริหารจัดการ การต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์ใหม่ และการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ในโครงการ Big Brother ซึ่งเป็นผลมาจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 โดยบริษัท โปรแกรส เทคโนโลยี คอนเซาท์แท็นส์ ซึ่งเป็นเอกชนขนาดใหญ่ได้เข้าไปช่วยติดตั้งตู้อบแห้งระบบลมร้อน 1 เครื่อง เครื่องรีดกล้วย 1 เครื่อง แก่สหกรณ์บ้านลาดซึ่งเป็นรายแรกหลังจากที่ได้มีการลงนามร่วมกัน และได้ทดลองดำเนินการผลิตมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา โดยจะนำผลผลิตการแปรรูปในครั้งนี้นำมามอบให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทน์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในวันนี้ (5 มี.ค.61) ขณะเดียวกันยังได้มีการประสานไปยังหอการค้าจังหวัด เพื่อให้นำผลผลิตที่ได้ไปจัดจำหน่ายยังตลาดประชารัฐและสามัคคีด้วย
ด้านนางสาวจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ ผู้บริหาร บริษัท สุคันธาไทยสแน็ค จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ผ่านโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (New Entreprenueurs Creation)และเพิ่มพูนศักยภาพการผลิต เพิมพูนศักยภาพการตลาด ผ่านโครงการยกระดับดาวเด่นเอสเอ็มอีไทย(DIP Stars) และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสอดคล้องกับตลาดจาก กสอ.จึงทำให้สินค้าของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักสามารรถเปิดตลาดใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้บริษัทฯยังได้มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและได้มาตรฐานสากลทั้ง GMP, HACCP เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือในการส่งออก และยังได้นำเทคโนโลยีในการบรรจุมาช่วยยืดอายุสินค้าสามารถเก็บได้นานถึง 1 ปี
“แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สถาบันการเงินมักมีกฏเกณฑ์ที่มากเกินไป ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และปัญหาค่าเงินบาทแข็ง แต่ทางบริษัทก็สามารถรับมือได้ ซึ่งสิ่งที่ทางบริษัทฯ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ก็คือ การนำนวัตกรรมมาใช้กับกระบวนการผลิต ที่ปัจจุบันมีแนวคิดแต่ยังไม่สามารถหานักวิจัยมาช่วยต่อยอดแนวคิด เพื่อทำออกมาให้สำเร็จได้”นางสาวจุฑารัตน์ ตั้งพาณิชย์ กล่าว
ขณะที่นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า อยากให้ กสอ.เข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์การผลิตและเทคโนโลยีผ่านระบบสหกรณ์ซึ่งมีผู้รับผิดชอบและเป็นองค์กรของเกษตรกรที่ร่วมเป็นเจ้าของ รวมถึงเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะผลผลิตที่มีในท้องถิ่น เช่น กล้วยหอม ละมุด ตาลโตนด มะนาว และผักในท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมา กสอ.ได้เข้ามาส่งเสริมด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มการแปรรูปผลไม้กล้วยหอมทองเป็นกล้วยอบหรือกล้วยอาบแดด โดยการนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนเครื่องจักรในการแปรรูป ปัจจุบันสหกรณ์ฯ กำลังดำเนินโครงการสนับสนุนกลุ่มสมาชิกสหกรณ์เพื่อนำผลผลิตกล้วยตกเกรดไปแปรรูปเป็นกล้วยกวน(กล้วยหอมทอง) เพื่อเพิ่มมูลค่า
“ปัญหาหลักฯ ของสหกรณ์ฯ ก็คือขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการผลิตและการแปรรูปอุตสาหกรรมด้านอาหาร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยากจะขอให้หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาช่วยสนับสนุน เพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์เป็นไปได้โดยไม่สะดุด สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก และทำให้เศรษฐกิจภายในชุมชนโตขึ้นได้”นายศิริชัย จันทร์นาค กล่าว