ไทยจับมือนานาชาติร่วมมืออาเซียน
ตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ประชุมฝึกสถานการณ์จำลองเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) ๖ – ๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร
ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานเปิดการประชุมฝึกสถานการณ์จำลอง (Tabletop Exercise) ภายใต้ชื่อ Destiny Elephant: Nuclear Forensics Exercise ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ – ๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ร่วมกับ The Australian Nuclear Science and Technology Organization (ANSTO) ตัวแทนรัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลีย รัฐบาลนิวซีแลนด์ รัฐบาลแคนาดา และ United States Department of State และตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จัดการประชุมเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์ (Nuclear Forensics) ซึ่งมีเข้าร่วมกว่า ๘๐ คน
ทั้งนี้เป็นผู้แทนจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๓๕ คน ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยกว่า ๒๐ คน อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น รวมถึงสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์จากประเทศอื่นทั่วโลกอีก ๑๙ คน และจากองค์กรระหว่างประเทศ ๓ คน จากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป และตำรวจสากล ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้ในการประชุมนี้
ดร. อัจฉรา กล่าวอีกว่า การประชุมฝึกสถานการณ์จำลองเป็นกิจกรรมภายใต้กรอบความคิดริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ (Global Initiative to Combat Nuclear Terrorism, GICNT) ซึ่งคือ การอาสาที่จะร่วมมือเป็นประเทศหุ้นส่วน (๘๘ ประเทศ และ ๕ องค์กรระหว่างประเทศ) ในการให้คำมั่นสัญญาเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับโลกในการตรวจจับการลักลอบหรือส่งผ่านเพื่อก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ การตอบสนองต่อการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ และการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางนิวเคลียร์ และเสริมสร้างนโยบาย กระบวนการที่เกี่ยวข้อง และความร่วมมือของประเทศหุ้นส่วนต่าง ๆ ในการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาศักยภาพของประเทศหุ้นส่วนในการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ การเสริมสร้างความเห็นพ้องกันของหน่วยงานระดับชาติของแต่ละประเทศหุ้นส่วนในการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
สำหรับประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อการประชุมวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมความคิดริเริ่มระดับโลกเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้นิวเคลียร์ โดยมอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานประสานกลาง อีกทั้งประเทศไทยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ทำให้ไทยสามารถดำเนินการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์โดยเฉพาะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญา อนุสัญญา และความตกลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ซึ่ง ปส. มีบทบาทสำคัญในการบังคับใช้พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. ๒๕๕๙ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ การร่วมจัดประชุมฝึกสถานการณ์จำลองในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องตั้งแต่การประชุม The Nuclear Security Summit 2016 เพื่อแสดงให้เห็นถึงท่าทีที่หนักแน่นของไทยในการต่อต้านการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ และเตรียมพร้อมตอบโต้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์และรังสีที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาระบบและมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ ๒๔๑๘