สวทช. จัดยิ่งใหญ่ “NAC2018”
โชว์วิจัยต้นแบบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 หรือ “NSTDA Annual Conference 2018: NAC2018” เปิดฉากแล้ว ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดงาน โชว์ศักยภาพงานวิจัยสวทช.และเครือข่ายพันธมิตร ประเด็นมุ่งเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรม มีวิจัยเด่นมากมาย รวมถึงแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า ที่ผ่านเฟสที่ 1 เข้าสู่เฟส2 แล้ว ผลงานเอ็มเทคร่วมพันธมิตร เป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ สู่หลักสูตรสำหรับจัดอบรมบุคลากรทางด้านระบบยานยนต์แห่งอนาคตต่อไป ชี้รัฐให้ความสำคัญด้านวิทย์-เทคโนฯจัดงบ 1,800 ล้านบ. ทำ 5 โครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 คาดปีนี้มีผู้เข้าชมงานมากถึง 5 พันคน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และพัฒนากลไกการส่งมอบ เพื่อผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ และดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ได้แก่ การพัฒนากำลังคน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 ตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันและพึ่งพาตนเองได้
ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา สวทช. มีผลงานที่เป็นองค์ความรู้ ได้แก่ สิ่งตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ 578 เรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญาที่ขอจด 301 คำขอ และผลงานที่ได้รับการถ่ายทอดเชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ 255 รายการ หน่วยงานรับมอบ 311 หน่วยงาน เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 27,546 ล้านบาท และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและชุมชน รวม 220 ชุมชน ใน 45 จังหวัด
การประชุมวิชาการประจำปีในครั้งที่ 14 นี้ จัดภายใต้หัวข้อ “ตอบโจทย์ประเทศไทยด้วยงานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น (Targeted R&D : Tackling Thailand Challenges )” มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนองานวิจัยประเด็นมุ่งเน้น ตามแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านอาหารเพื่ออนาคต 2.ระบบขนส่งสมัยใหม่ 3.การสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต 4.เคมีชีวภาพและเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 5.นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาที่ สวทช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโดยนักวิจัยของ สวทช. ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(BIOTEC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการประชุม เป็นนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้กำหนดนโยบาย นิสิตนักศึกษา นักเรียน ตลอดจน ประชาชนทั่วไป
ด้านนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า สวทช.จัดงานประชุมวิชาการปีนี้จัดระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 เนื้อหาของงานจะเป็นการประชุมวิชาการระหว่างนักวิจัย ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เป็นที่สนใจในปัจจุบัน เช่น การปรับปรุงเกษตรสมัยใหม่ การจัดการเรื่องIOT เรื่อง Artificial Intelligence ต่าง ๆ และระบบยานยนต์สมัยใหม่ มีการคุยด้านวิชาการเพื่อหาข้อสรุปว่า งานต่อไปสำหรับประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไร งานวิจัยควรจะมีทิศทางอย่างไร เทคโนโลยีปัจจุบันเป็นอย่างไรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ส่วนที่ 2 ด้านนิทรรศการเป็นประเด็นมุ่งเน้นต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่โครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีและผลงานประเด็นมุ่งเน้นตาม 5 กลุ่มอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ในด้านระบบขนส่งสมัยใหม่ได้นำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาที่น่าสนใจหลายอย่าง รวมถึงด้านแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า , ศูนย์ที่ใช้ในการชาร์จประจุไฟฟ้า ,ระบบติดตามรถประจำทาง รถบริการ รถโดยสาร เพื่อให้ข้อมูลตำแหน่งกับผู้โดยสาร ว่าอยู่ที่ไหน สำหรับการจัดการบริหารเวลาตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้า เป็นผลงานของทีมวิจัยของ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการของMTEC สวทช. โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)และสถาบันยานยนต์ (สยย.) ที่สนับสนุนทุนวิจัย เป้าหมายเพื่อพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่หรือแบตเตอรี่แพ็คสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ส่วนเป้าหมายสุดท้ายมุ่งนำองค์ความรู้ที่ได้พัฒนาเป็นหลักสูตร อบรม พัฒนาบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศต่อไป
ขณะนี้เพิ่งพัฒนาเสร็จในเฟสที่ 1 (12-18 เดือน)และกำลังอยู่ในเฟสที่ 2 โดยผลงานในเฟสที่ 1 ได้แบตเตอรี่ขนาด 4 โมดูล จำนวนเซลล์ 1408 ก้อน ความจุไฟฟ้า 228.8 Ah ที่สามารถผลิตพลังงานได้รวม 13.54 กิโลวัตต์ชั่วโมง(kWh) เมื่อชาร์จเต็มแล้วช่วยให้รถยนต์วิ่งไปได้ 160 กิโลเมตร ที่ความเร็วระดับ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉลี่ย รถวิ่งได้ 12.5 กิโลเมตรต่อพลังงาน 1kWh โดยการนำไปใช้งาน เวลานี้สามารถนำไปใช้สมาร์ทซิตี้ต่าง ๆ เช่นที่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ เป็นต้น
นายณรงค์ ยังเปิดเผยด้วยว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญแก่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยงบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์มีมากกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท สำหรับสวทช.ได้รับการสนับสนุน 1,800 ล้านบาทเพื่อทำ 5 โครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 โครงการแรกได้แก่ “คลังชีวภาพ” หรือไบโอแบงก์ ซึ่งใช้งบประมาณ 750 ล้านบาท เก็บความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงพันธุ์จุลินทรีย์ ขยายจากสิ่งที่เรามีประมาณ 80,000 สายพันธุ์ ซึ่งถือเป็นอับดับ 1 ในอาเซียน อันดับ 6 ของโลก นอกจากนี้ยังเก็บข้อมูลพันธุ์พืชต่าง ๆ การเพาะเนื้อเยื่อเมล็ดพันธุ์ เซลล์สัตว์และเก็บข้อมูลจีโนมของคนไทย โดยทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข,
โครงการที่ 2 เป็นPlant factory โรงงานในการผลิตพืช เป็นพื้นที่ปิด ปลูกพืชผักสมุนไพร มีการควบคุมสารออกฤทธิ์ให้สม่ำเสมอหรือเพิ่มปริมาณสารออกฤทธิ์ได้ เน้น ไพล บัวบก กระชายดำและขมิ้นชันนำร่อง,โครงการ3 เป็นเครื่องสแกน 3 มิติ เดนตีสแกน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านทันตกรรม ช่วยให้แพทย์รักษาฟัน รากฟันได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้ประชาชนในชนบทได้รับการรักษาที่ดีและมีราคาที่เหมาะสม และอีก 2 โครงการที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ได้แก่ โครงการKid bright เป็นอุปกรณ์ IOT เชื่อมต่อ เพื่อให้เด็ก ๆเชื่อมอุปกรณ์โดยเขียนซอฟต์แวร์ง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ สร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆได้และทำงานต่อเนื่องได้ โดยปกติอุปกรณ์เหล่านี้มีเซนเซอร์สั่งการไปยังเครื่องมือต่าง ๆ เด็ก ๆ อาจจะขาดอุปกรณ์ต่าง ๆ
อีกโครงการคือ Publication Lab เป็นการเอาเครื่องมือไปไว้ที่โรงเรียน เช่น อุปกรณ์เลเซอร์คัทเตอร์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อขึ้นรูปอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ทำโดรน ก็ขึ้นรูปและสั่งการผ่าน IOT ที่เรียกว่า Kid briht เขียนซอฟต์แวร์ ผ่านKidbriht ไปสั่งการให้โดรนทำงานอย่างที่ต้องการได้ หรือสร้างหุ่นยนต์ เซคเวย์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กสนใจเทคโนโลยี สนุกสนานกับการเรียนเหล่านี้
รมว.วิทย์ย้ำว่า งบประมาณที่ได้จะต้องสานต่อขยายผลกิจกรรมที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้อง เช่น Kid bright ที่จะต้องสร้างอุตสาหกรรมที่ทำเป็นของเล่นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อเนื่อง หรือเดนตีสแกนก็สร้างเป็นอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น”
ฝ่ายดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า เราจะสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นวิจัยมุ่งเน้นนำไปสู่การมีส่วนในการสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ชัดขึ้น ขานรับกับอุตสาหกรรม S-Curv ต่าง ๆ ของรัฐบาลทั้งใหม่และเก่า เรามีการทำงานแบบบูรณาการ เชื่อมโยงกัน ผลงานที่ออกมานำไปขยายผล ก่อให้เกิดคุณค่าต่าง ๆ ตัวอย่างของหัวข้องานสัมมนาที่สอดพ้องกับประเด็นมุ่งเน้นต่าง ๆ น่าสนใจ เช่น การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 เราจะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนเข้าใจคำว่า 4.0, การใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ “บิ๊กดาต้า” และทำให้เห็นผลว่า ความเป็นอยู่ของชีวิตเราจะดีขึ้นอย่างไร ทั้งด้านความปลอดภัย สะดวกสบาย ความมีประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตต่าง ๆ ลูกหลานไปโรงเรียนจะมั่นใจได้อย่างไรได้รับการสอดส่องดูแลจากสถานศึกษา คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เรานำเสนอเทคโนโลยี โดยจัดหัวข้อสนทนาว่า เราจะใช้เทคโนโลยีปัจจุบันทำอะไรได้บ้าง หารือกัน โอกาสเหล่านี้เราสามารถทำโมเดลธุรกิจต่าง ๆเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเท่าเทียม สร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ทั้งการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
สำหรับยานยนต์และการขนส่งสมัยใหม่ เทคโนโลยีด้านตัวประจุที่จะใช้ในยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นนี้จะเตรียมตัวอย่างไร, สถานีประจุต่าง ๆ รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรได้บ้าง รัฐบาลมีการบริหารแหล่งพลังงานหมุนเวียน นอกจากพลังงานจากถ่านหินและพลังงานน้ำ พอเข้ามาในระบบแล้ว ที่เรียกว่า Smart Grid (โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ) จะเข้ามาบริหารจัดการ ใช้อย่างผสมผสานอย่างไร เราเสนอรูปแบบเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่า จะมาในอีกไม่นาน หรือเร็วกว่าที่เราคิด หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า เทคโนโลยี Distruption (ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการผสมผสานของเทคโนโลยีต่างๆ โดยมี IT คอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ)
“สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อยากเชิญชวนประชาชนมาเยี่ยมชมงาน แล้วจะได้รู้ว่า การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมจะทำอย่าง อย่างที่ท่านผอ.สวทช.กล่าว ถ้าเราอยากติดตามกระแสเทคโนโลยี เราไม่ได้ตกยุค มาเยี่ยมชมงานนี้ เราจะรู้โอกาสทางธุรกิจและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหมาะสมอย่างไร โดยคาดในปีนี้จะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 5,000 คนจากราว 4,000 คนในปีที่แล้ว”
เชิญชวนเข้าชมผลงานวิจัยดี ๆ ประเด็นมุ่งเน้น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมกันได้ ที่งานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2561 (NAC2018) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-13 มีนาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี ผู้สนใจสามารถร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-564-8000 หรือ www.nstda.or.th/nac