สมาคมนักวิจัยฯนำคณะนักวิจัย
เก็บข้อมูลภาคสนาม สิบสองปันนา
สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย นำผู้อบรมเดินทางไปเก็บข้อมูลการวิจัยภาคสนาม ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร ทักษะและศักยภาพสำหรับนักวิจัยในการวิเคราะห์ด้านเทคโนโลยีกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเมืองท่องเที่ยวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน (บริเวณสิบสองปันนา) ระหว่างวันที่ 7 – 10 มีนาคม 2561 เพื่อให้ผู้อบรมได้เป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพมืออาชีพที่เข้าใจวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในต่างประเทศ พร้อมบูรณาการในด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณนักวิจัย
ดร.ญาณกร โท้ประยูร ประธานอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรม สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฝ่ายฝึกอบรมสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ในการจัดฝึกอบรมให้กับนักวิจัยที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการรับความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ในการทำวิจัย โดยที่ผ่านมามีโครงการฝึกอบรมหลายโครงการที่มีนักวิจัย และผู้สนใจเข้าร่วมอบรม เช่น หลักสูตรการทำวิจัยเชิงคุณภาพ หลักสูตรการวิจัยตลาด ฯลฯ ในหลักสูตรนี้ ทางฝ่ายฝึกอบรมฯได้จัดหลักสูตรการเก็บข้อมูลภาคสนามในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้อบรมได้รับความรู้และความเข้าใจในการทำวิจัยเชิงคุณภาพอย่างแท้จริง
โดยมี รศ.ดร.โยธิน แสวงดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ เป็นวิทยากรร่วมเดินทางไปด้วย เริ่มจากการอบรมภาคทฤษฎี ในวันที่ 6 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และออกเดินทางไปเก็บข้อมูล ที่สิบสองปันนา ของประเทศจีน ในวันที่ 7 – 10 มีนาคม 2561 คณะผู้อบรมได้เริ่มเก็บข้อมูลการวิจัย ตามที่วิทยากรได้แนะนำไว้ โดยเริ่มเก็บข้อมูลในวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่สวนป่าดงดิบที่เป็นถิ่นกำเนิดของนกยูง และหมู่บ้านชาวเขาและการแสดงพื้นเมืองของ ชาวไทยลื้อ และเดินทางไปเก็บข้อมูลที่วัดหลวงเมืองลื้อ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์ของบรรพบุรุษชนชาติดั้งเดิม ซึ่งพระพุทธรูปปางขอฝน (ยืน) เป็นพระพุทธรูปที่สร้างตามคติและความเชื่อของประชาชนในอดีต จากนั้นเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ 12 ปันนา ที่เป็นประวัติของชนชาติ ไทลื้อ ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสิบสองปันนาที่ดีที่สุด
ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 คณะผู้อบรมได้เดินทางไปหาข้อมูลที่ตลาดเช้า และหมู่บ้านไทลื้อม่านเฮ้อป้อง ที่เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ 100 กว่าปีให้ผู้อบรมได้ศึกษา และเดินทางไปวัดป่าเจย์ เป็นวัดที่เจ้าปกครองสิบสองปันนาใช้เป็นที่ไหว้พระและประกอบศาสนกิจในอดีต และไปที่สวนม่านทิง ที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของเชียงรุ้งที่มีความหมายว่า สวนแห่งวิญญาณซึ่งมีอนุสาวรีย์ของอดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ตั้งเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความรำลึกถึงการมาร่วมเล่นสงกรานต์กับชาวไทลื้อ
ดร.ญาณกรฯ กล่าวต่อว่า นักวิจัยที่ร่วมอบรมในโครงการนี้จะต้องส่งผลงานวิจัยให้อาจารย์โยธินฯ ภายใน 30 วัน หลังการตรวจแก้ไขแล้ว จะนำลงตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสารต่อไป จากความสำเร็จของหลักสูตรดังกล่าว ทำให้ฝ่ายฝึกอบรมฯ วางแผนที่จะจัดหลักสูตรในการเก็บข้อมูลภาคสนามทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของสมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย ได้ที่สมาคมนักวิจัยแห่งประเทศไทย หรือ www.ar.or.th