เปิดฉากประชุม-นิทรรศการระบบราง
มทร.อิสาน ขอนแก่นโชว์รถวิ่งบนราง
การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018เริ่มแล้วอย่างคึกคัก ตอบโจทย์หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ระดมพลร่วมดูงานรับข้อมูลทั้งด้านวิชาการ และ เทคโนโลยีจากบริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั่วโลก120บริษัท คาด 2 วันมียอดผู้ร่วมงาน 3,000 คน จับตาการพัฒนาระบบรางไทยเข้าสู่ยุคพีคสุด หลังลงมือเดินหน้าตามแผนลงทุน5ปี 2.2 ล้านบาท รฟท.+วว.+สมอ.ผนึกกำลังพัฒนาระบบราง ภาครัฐจับมือ10 มหาลัยเร่งสร้างบุคลากรเข้าระบบกว่า 3 หมื่นคน พร้อมหนุนงานวิจัยผลิตงานเพื่อระบบร่างลดการนำเข้าต่างชาติ ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์14.2% ให้เหลือ11.9% ปี 2579ลงทุน7,822,581 ล้านบาท เพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางระยะ20ปี งัดมาตรการลดภาษีจูงใจนักลงทุนไทย ด้านมทร.อิสาน วิทยาเขตขอนแก่นโชว์ผลงาน “รถยนต์ขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของสวทช.พร้อมส่งมอบแก่รฟท.
ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานเปิดงาน การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 และ RAIL Asia Expo 2018 ที่มีขึ้นวันที่ 28-29 มีนาคม 2561 ณ. ฮอลล์แสดงสินค้า สถานีรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน พร้อมเปิดเผยว่า งานนี้มีความสำคัญ เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ แหล่งรวมบริษัทผลิตสินค้าและเทคโนโลยีระบบรางรถไฟฟ้าจากทั่วโลก ถือเป็นจุดดูงานสำหรับประเทศเราที่เร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะระบบราง
ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน 8 ปี ของกระทรวงคมนาคม ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2558–2565 นั้น ลงทุนให้ระบบรางจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เร่งจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง ลดภาระการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ พัฒนาบุคลากร ด้านเทคนิควิศวกรรมระบบรางไปพร้อมๆ กัน เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า (2561-2564) ไทยจะมีความต้องการบุคลากรด้านระบบราง มากถึง 30,000 คน ตลอดจนเร่งส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมระบบรางของไทยด้วยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนระบบรางได้บางชิ้นส่วน และส่วนใหญ่เป็นประเภทที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงนัก เช่น ไม้หมอนและชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งภายในตัวรถ
ส่วนการผลิตตัวเครื่องยนต์แคร่ ขบวนรถโดยสาร และราง ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง เพราะไทยยังไม่มีโรงเหล็กต้นน้ำ และเป็นระบบที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำความตกลงกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีระบบรางชั้นนำ ระบบรางของโลกหลายประเทศ เพื่อจัดทำโปรแกรมร่วมกัน ด้านการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี และการฝึกอบรมพัฒนาระบบราง อาทิ ประเทศจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.- หนองคาย ญี่ปุ่น ในโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กทม.- เชียงใหม่ รวมถึงเกาหลีและเยอรมัน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการเซ็นเอ็มโอยู 3 กระทรวงหนุนพัฒนาวิจัย-บุคลากรรางในปี 2560 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการด้านการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาระบบราง เพื่อนำงานวิจัยพัฒนาระบบรางมาใช้ประโยชน์ด้านการขนส่ง การเดินรถยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับระบบรางของประเทศ รวมทั้งมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะผู้ใช้ชิ้นส่วนรายใหญ่ ไปจัดทำแผนความต้องการใช้ชิ้นส่วนระบบรางในระยะยาวว่ามีความต้องการใช้อุปกรณ์ หรือชิ้นส่วนชนิดใดบ้าง ปริมาณเท่าไหร่ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในประเทศ ให้กล้าตัดสินใจลงทุนในอุตสาหกรรมระบบรางรวงทั้งประสานความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อสำรวจข้อมูล ว่าชิ้นส่วนชนิดใดในระบบรางที่ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ เพื่อเร่งรัดจัดทำแผน ส่งเสริมการลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบขบวนรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนภายในประเทศ
ขณะเดียวกันยังมีความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกร ช่างเทคนิค พนักงานจัดการระบบราง โดยขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่ง เพื่อวางหลักสูตรการเรียนการสอบ เพื่อเตรียมบุคลากรที่จะมารองรับระบบราง ทั้งวิศวกร ช่างเทคนิค ผู้ที่จะประกอบการเดินรถ และประกอบการซ่อมบำรุงรถไฟในอนาคต ในอนาคตอาจจะเสนอให้รัฐบาลจัดหาทุนการวิจัยระบบรางด้วย
ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยถึงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางของไทยว่า “ปัจจุบันยังไม่ได้มีการพัฒนาเป็นหลักสูตรด้านระบบรางที่ชัดเจน แต่แนวทางคือ เป็นหลักสูตรพื้นฐานก่อนเพื่อไปต่อยอด ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พัฒนาออกมาเป็นรายวิชาก่อนหรือเป็นวิชาเอก เพราะวิศวกรรมสาขาอื่นๆ ก็นำมาใช้ได้ ทำให้เด็กจบมาแล้วสามารถทำงานสายเกี่ยวเนื่องได้ เพื่อไม่ให้เด็กออกมาแล้วหางานยาก ซึ่งสภาวิศวกรมีการออกใบส่งเสริมวิศวกรรมระบบราง ตอนนี้อยู่ในช่วงคุยและพัฒนาว่า เราจะเดินไปทางไหน ส่วนหลักสูตรปริญญาโท มีที่มหาวิทยาลัยมหิดลกำลังประชาสัมพันธ์อยู่ นอกจากนี้ยังมีการลงนามความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งอาเค่น เป็นสถาบันเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนีเพื่อร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตร
สำหรับสวทช. ได้ตั้งโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ และโปรแกรมการคมนาคมขนส่งระบบราง ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการการพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ การวิจัยพัฒนานวัตกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยเปิดหลักสูตรการฝึกอบรม “การพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (ว
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า การพัฒนาระบบรางจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ ถือเป็น 1 ใน 10 ยุทธศาสตร์หลักที่รัฐบาลต้องการเร่งรัดให้ดำเนินการ ทั้งนี้ สนข. ได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางได้กำหนดวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 7,822,581 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และระหว่างประเทศ ให้ครอบคลุมทั้งภูมิภาคของประเทศ ตลอดจนการเชื่อมโยงไประหว่างประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
โดยตั้งเป้าหมายที่จะปรับลดต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 14.2% ให้เหลือ11.9% ภายในปี 2579 และปรับลดต้นทุนค่าขนส่งต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จาก 7.4% ให้เหลือ 6.7% ภายในปี 2579 รวมทั้งเร่งรัดผลักดันสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน1.4% ให้เป็น 10% ภายในปี 2579 เนื่องจากเป็นระบบที่มีต้นทุนการขนส่งที่ถูกเพียง 0.93 บาท/ตัน/กม. หากเทียบกับการขนส่งทางถนนซึ่งอยู่ที่ 1.72 บาท/ตัน/กม.
นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ งาน RAIL Asia Expo 2018 มีการผนึกกำลังกับ RISE การประชุมสัมมนาระบบรางภายใต้ การสนับสนุนจากภาครัฐ ร่วมกันจัดงานสินค้าระบบรางระดับชั้นนำของภูมิภาคเอเชีย และการประชุมสัมมนาด้านอุตสาหกรรมระบบรางขั้นสูง
“ งานนี้ถือเป็นการพัฒนาระบบรางครั้งสำคัญยิ่ง เนื่องด้วยจะมีหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการเดินรถ ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบ อุปกรณ์ มาร่วมแสดงผลงานอย่างเต็มรูปแบบไปพร้อมๆกัน โดยในส่วนการพัฒนางานวิจัยระบบรางของไทยนั้น ได้มีการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) โดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งได้กำหนดให้งานวิจัยระบบรางเป็นหนึ่งในแผนงานวิจัยมุ่งเป้าของประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการบริหารแผนงานวิจัย เพื่อให้มีผลงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในด้านการคมนาคมระบบรางและตรงตามความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งส่งมอบผลงานวิจัยสู่หน่วยงานผู้รับประโยชน์ โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนารถยนต์รางขนาดเบาวิ่งบนรางรถไฟมิเตอร์เกจหรือถนน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ สุคนธนกานต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่นให้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้นำรถยนต์ของจริงมาโชว์ที่งาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิโรฏฐ์ เปิดเผยว่า “ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) มากกว่า 1 ล้านบาทเพื่อพัฒนา โดยพัฒนาในปี 2560 ที่ผ่านเพื่อให้รถยนต์กระบะสามารถวิ่งบนรางรถไฟได้และวิ่งบนถนนปกติได้ เหมาะสำหรับใช้วิ่งไปตรวจรางปกติหรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน รถสามารถวิ่งได้โดยการทำงานร่วมกันของแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือคู่กับโปรแกรมPLC หรือระบบควบคุมไฮโดรลิคภายในรถ สามารถวิ่งได้ไม่เกิน 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะนี้ส่งมอบเพียง 1 คัน แต่ในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นตามความต้องการของรฟท. อีกทั้งจะพัฒนาต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อาทิ ระบบกันกระเทือน ระบบเบรคและเพิ่มความเร็วรถ เป็นต้น”
ด้านนายเดวิด เอ็ทคิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย เอ็กซิบิทชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด เปิดเผยว่า งาน The 4th Thai Rail Industry Symposium and Exhibition (RISE) and RAIL Asia Expo 2018 ในปีนี้เป็นการผนึกงาน RAIL Asia Expo ครั้งที่ 6 และงาน RISE การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการ อุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 4 สองงานใหญ่ เข้าไว้ด้วยกัน เป็นงานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีรถไฟ และรถไฟใต้ดิน ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะรวบรวมผู้ผลิตเทคโนโลยีด้านรถไฟ รถไฟใต้ดิน ผู้รับเหมา ระบบราง ผู้ให้บริการระบบรถไฟ ระบบไอที การสื่อสาร อาณัติสัญญาณ อุปกรณ์ในสถานี ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ผู้ผลิตต่างประเทศ ชั้นนำทั้งจากยุโรป อเมริกา,เอเชีย มาจัดแสดงในงาน โดยมีบริษัทที่เข้าร่วมงานและตัวแทนจำหน่ายถึง 120 บริษัท จากทั่วโลก มีผู้เกี่ยวข้องผู้ผลิต ผู้ให้บริการเดินรถ ที่ปรึกษา ผู้รับเหมา นักลงทุน วิศวกร กว่า 1,000ราย คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานถึง 3,000 คน
ทั้งนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ วงการขนส่งระบบรางจากทั่วโลกที่มาร่วมงาน อาทิ บอมบาร์เดีย, ชไนเดอร์,ซีเมนส์,ซีอาร์เอสซี,และวอร์สทอนไพน์ มีพาวิเลียนจาก สหราชอาณาจักร จีน และเกาหลี จะนำเทคโนโลยีล่าสุด นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆในอุตสาหกรรมนี้มานำแสดงรองรับเมกะโปรเจกต์ระบบรางของไทย