สคร.ร่วมธพว.-กฟน.-กฟภ.-กปน.-กปภ.
ยกระดับบริการประชาชนด้วย BigData
สคร.ผนึกกำลัง 5 รัฐวิสาหกิจ ธพว.-กฟน.-กฟภ.-กปน.-กปภ. นำร่องการบริหารจัดการ BigData และ DigitalTransformation ในรัฐวิสาหกิจตามนโยบาย Thailand4.0 ชี้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนำสู่การยกระดับให้บริการประชาชนด้วย BigData ปรับปรุงการให้บริการที่เหมาะสม ความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการSMEs รายย่อยหรือ “จุลเอสเอ็มอี” มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนสินเชื่อของธนาคาร
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)เปิดเผยว่า สคร. ได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ 5 แห่งได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) การประปานครหลวง(กปน.) และการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการบูรณาการข้อมูลเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนสู่การเป็นBigDataของรัฐวิสาหกิจ(MOU) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ(CEOForum) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2560 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อผลักดันการบริหารจัดการ BigData และ DigitalTransformation ในรัฐวิสาหกิจ โดย สคร. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นสื่อกลางและเป็นที่ปรึกษาในการประสานให้รัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งได้หารือกัน บันทึกข้อตกลงนี้จะถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือเพื่อต่อยอดต่อการบูรณาการข้อมูลของรัฐวิสาหกิจกลุ่มอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารเสนอโครงการนำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปา ซึ่งจะช่วยให้รู้สถานะรวมถึงยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยหรือ “จุลเอสเอ็มอี” ช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และแหล่งเงินทุนสินเชื่อของธนาคารมากขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานผู้ให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปา สามารถนำข้อมูลของผู้ที่มาขอสินเชื่อกับธนาคารไปวิเคราะห์และปรับปรุงบริการให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจอีกด้วย
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการฐานข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า โดยที่ผ่านมา กฟน. ได้มีการพัฒนางานบริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อเนื่อง ได้มีการร่วมมือกับกรมการปกครองดำเนินโครงการ Linkage Center เพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและในครั้งนี้ กฟน.พร้อมต่อยอดโครงการดังกล่าวร่วมกับ ธพว. เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ขอยื่นสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับปรุงข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องและทำให้มีความถูกต้องแม่นยำ เกิดการบูรณาการที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น
ฝ่ายนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า กฟภ. ได้ดำเนินการตามนโยบาย Thailand4.0 ในส่วนของการสนับสนุน SMEs การเพิ่มคุณภาพการให้บริการประชาชน โดย กฟภ. จะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมพัฒนาบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลงและธุรกิจใหม่พัฒนากระบวนการทำงานที่รองรับยุคดิจิทัล อำนวยความสะดวกและรวดเร็วในงานบริการให้กับประชาชนด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การลงนามตกลงร่วมกันถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การบริหารจัดการฐานข้อมูลทั้งในส่วนของ BigData และ Digital Transformation อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวเข้าสู่ Digital Economy
นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการ กปน. กล่าวว่า ในการสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยใหม่นั้น กปน.มีความมั่นใจในความสามารถของการให้บริการน้ำประปาที่สะอาดปลอดภัยได้ทั่วถึงทุกรายและด้วยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาสนับสนุนการปฏิบัติงานของ กปน. จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนนายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการ(วิชาการ)รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. กล่าวว่า กปภ. มีภารกิจในการสำรวจและวางท่อประปา เพื่อให้บริการน้ำสะอาดที่ได้มาตรฐานแก่ประชาชนใน 74 จังหวัดทั่วประเทศ(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ) ซึ่งมี กปภ. สาขากระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 234 สาขา ดังนั้น ระบบฐานข้อมูลของลูกค้าที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ ธพว.ในการประสานความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โดยเฉพาะข้อมูลรายการบุคคลจากฐานข้อมูลลูกค้าของ กปภ. และ ธพว. ที่ทำธุรกรรมและให้ความยินยอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ กปภ. จะทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการมากยิ่งขึ้น
นายเอกนิติ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การลงนาม MOU ของ สคร. กับ รัฐวิสาหกิจในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการฐานข้อมูลของรัฐวิสาหกิจผ่าน BigData และ Digital Transformationเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการฐานข้อมูลภาครัฐ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนและขับเคลื่อนให้เป็นรัฐวิสาหกิจ 4.0 ต่อไป