4 ทริคขับรถกลับบ้านช่วงสงกรานต์
ข้ามจุดตัดทางรถไฟปลอดภัย
เทศกาลสงกรานต์ แต่ละปีมีประชาชนหลั่งไหลกลับบ้านด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคนต่อปี หากนับเฉพาะเดินทางโดยรถไฟ มีสูงถึง 7 แสนคน เมื่อมีการเดินทางในปริมาณมากก็ย่อมมีอุบัติเหตุ แม้ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะมีการรณรงค์และดำเนินการมาตรการเชิงรุกในการสร้างความปลอดภัย แต่ยังพบว่าในแต่ละปีจำนวนอุบัติเหตุยังสูงอยู่ ซึ่งมีสาเหตุจากความประมาท และการขาดวินับในการใช้รถใช้ถนนตามกฎหมายจราจร
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถไฟ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับรถยนต์ และมักเกิดขึ้นบริเวณจุดตัด ประเภททางลักผ่าน และจุดตัดทางรถไฟที่ควบคุมด้วยเครื่องหมายจราจรเพียงอย่างเดียว ถึง 87% เลยทีเดียว ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุนอกจากความประมาทเลิ่นเล่อของผู้ขับขี่แล้ว ยังมีปัจจัยมาจากความพยายามขับขี่หลบเครื่องกั้นหรือเร่งเครื่องขับข้ามทางรถไฟเมื่อรถไฟกำลังจะมา หรือมีความจงใจขับรถผ่านหรือชนเครื่องกั้นทำให้เกิดความเสียหายขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรณรงค์ลดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่รถยนต์ และพาหนะอื่นๆ บริเวณจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับรถยนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รฟท. มีคำแนะนำในการข้ามจุดตัดทางรถไฟฯ อย่างปลอดภัยเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซึ่งนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งผู้ประสบเหตุ และขบวนรถไฟด้วย และหากประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำ ก็จะเป็นการขับเคลื่อนลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในวันสงกรานต์ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมเสียที ซึ่งมีคำแนะนำทำได้ง่าย ดังนี้
- หยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร ไม่ว่าจะมีเครื่องกั้นทาง หรือเครื่องหมายหรือเสียงสัญญาณระวังรถไฟหรือไม่ก็ตาม และเพื่อความปลอดภัยต้องรอให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟวิ่งผ่านหรือรถไฟวิ่งผ่านไปแล้ว จึงจะขับรถผ่านไปได้
- ห้ามขับรถแซงขึ้นหน้ารถคันอื่นภายในระยะ 30 เมตร ก่อนถึงทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ
- หากต้องการจอดรถ ต้องจอดรถในระยะไม่ต่ำกว่า 15 เมตรก่อนถึงทางรถไฟ
- หากเห็นป้ายสัญลักษณ์ ได้แก่ ป้ายหยุด ป้ายเตือนรูปกากบาท“ระวังรถไฟ” ป้ายทรงสีเหลี่ยมขนมเปียกปูนสีอำพันมีเครื่องจักรไอน้ำและรั้วกั้น ให้ชะลอความเร็ว และจอดเพื่อดูให้แน่ใจว่าไม่มีรถไฟแล่นผ่านมา เมื่อเห็นว่าปลอดภัยจึงจะข้ามทางรถไฟผ่านไปได้
สำหรับป้ายเตือนหรือป้ายสัญญาณจราจรติดตั้งอยู่บริเวณจุดตัดทางรถไฟทุกแห่งนั้น เพื่อเตือนให้ประชาชนรู้ว่าบริเวณนี้เป็นทางรถไฟ และจะมีรถไฟวิ่งผ่านจึงจะต้องระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายของป้ายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจรไปมาด้วย ซึ่งแต่ละป้ายจะมีความหมายว่าอย่างไรบ้าง มีรายละเอียด ดังนี้
- ป้ายทางข้ามทางรถไฟมีเครื่องกั้นทาง จะมีลักษณะเป็นรูปรั้วกั้นอยู่บนพื้นป้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีเหลืองอำพัน หมายถึงทางรถไฟที่มีเครื่องกั้นทางปิดกั้น ถ้ามีรถข้างหน้าหยุดรออยู่ก่อนก็ให้หยุดรถถัดต่อมาตามลำดับ เมื่อเปิดเครื่องกั้นทางแล้ว ให้รถที่หยุดรอเคลื่อนที่ตามกันได้
- ป้ายทางข้ามทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้นทาง เป็นรูปหัวรถจักรอยู่บนพื้นป้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีเหลืองอำพันเช่นกัน หมายถึง ป้ายทางข้างหน้ามีทางรถไฟตัดผ่านและไม่มีเครื่องกั้นทาง ให้ขับรถให้ช้าลงให้มากและสังเกตดูรถไฟทั้งทางขวาและซ้าย ถ้ามีรถไฟกำลังจะผ่านมาให้หยุดรอให้ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร แล้วรอคอยจนกว่ารถไฟนั้นผ่านพ้นไปและปลอดภัยแล้วจึงเคลื่อนรถต่อไปได้
- ป้ายหยุด เป็นป้ายรูปแปดเหลี่ยมสีแดง มีข้อความ “หยุด” หมายถึงว่ารถทุกชนิดจะต้องหยุดเมื่อเห็นป้ายนี้ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถต่อไปได้อย่างปลอดภัย
- ป้ายกากบาท “ระวังรถไฟ” ป้ายเตือนว่าเป็นจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับรถยนต์ จะมีรถไฟแล่นผ่านทางรถไฟบริเวณนี้ ให้ระวัง และชลอความเร็ว
นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลุ่มยุทธศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รฟท. มี “โครงการ 1+1=0 รถไฟไทยปลอดภัยทุกเส้นทาง” ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุของผู้ขับขี่ยานพาหนะผ่านบริเวณจุดตัดทางรถไฟในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยแพร่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจุดตัดทางรถไฟฯ ที่ถูกต้อง และสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้เส้นทางมีวินัยและตระหนักในการใช้เส้นทาง เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุให้เหลือเท่ากับศูนย์ในอนาคตอันใกล้
หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานรถไฟที่อยู่ใกล้ หรือโทรสายด่วน 1690 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ประชาสัมพันธ์และบริการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 02 220 4261 หรือ www.railway.co.th และอีเมล์ pr.railway.srt@gmail.com