กรมควบคุมโรคปลื้มพชอ. อ.รัษฎา
ต้นแบบฯคุม “ไข้เลือดออก”
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและชื่นชมการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ ในอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ต้นแบบบูรณาการขับเคลื่อนงาน รวมถึงนวัตกรรมในชุมชน ด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกดีเด่น และได้รับรางวัลหมู่บ้านปลอดโรคไข้เลือดออก 10 ปี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19-21 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ด้านการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกดีเด่น โดยมีการแถลงข่าวร่วมกับนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา และนายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง เรื่อง “ผลงานที่เป็นเลิศ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่ยั่งยืน” และลงพื้นที่ศึกษาชุมชนตัวอย่างที่เกิดจากความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในพื้นที่ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
ทั้งนี้คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. นั้น ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในอำเภอ โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ พ.ศ.2561 เป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ซึ่งมีเป้าหมาย คือ อำเภอเดียวกันไม่ทอดทิ้งกันและคนไทยใส่ใจดูแลกัน สำหรับการดำเนินงานเพื่อป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องใช้หลักการทำงานของ พชอ. เพื่อประสานระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน โดยมีแนวคิด “ใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และหัวใจสำคัญคือ “ภาวะนำร่วม บูรณาการ และมีส่วนร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดการแบบองค์รวม ทั้ง 4 มิติของสุขภาพ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสามารถพึ่งตนเองได้ในการดูแลสุขภาพ
สำหรับตัวอย่างของการดำเนินงานในรูปแบบ พชอ. ที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่ ได้แก่ ตำบลหนองบัว อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ซึ่งดำเนินงานโดยมี พชอ. เน้นการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยใช้บุคลากรในพื้นที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หมู่บ้านมีระบบและกลไกการบริหารจัดการ การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของหมู่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการต่อเนื่อง เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนจากประชาชนอำเภอรัษฎาเห็นความสำคัญของการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก จึงร่วมกันหามาตรการกำจัดโรคโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงเกิดการประกวดบ้านสะอาด จัดการสิ่งแวดล้อมรอบบ้าน คัดแยกขยะ ทำความสะอาดบ้าน โดยมีหมู่ที่ 4 ตำบลหนองบัว เป็นหมู่บ้านตัวอย่างและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีหมู่ที่ 4, 5 และ 8 ตำบลหนองบัว ได้รับรางวัลชนะเลิศเรื่องป้องกันไข้เลือดออก ระดับจังหวัด
ซึ่งภายใต้การมีส่วนร่วมและสนับสนุนของทีมระดับตำบล อำเภอ ประกอบด้วย คณะกรรมการควบคุมโรคระดับอำเภอ คณะกรรมการควบคุมป้องกันโรคและภัยสุขภาพตำบล คณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคระดับหมู่บ้าน ทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วระดับตำบล (SRRT) ทีมปฏิบัติการระดับท้องถิ่น/ชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังโรคเหตุการณ์ผิดปกติของหมู่บ้าน ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องโรคไข้เลือดออก เกิดการเรียนรู้ใช้ระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคในชุมชนเพื่อรับมือโรคและภัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้น พัฒนาศักยภาพทักษะภายในทีมอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังเป็นหนึ่งใน “12 เมืองต้องห้าม…พลาด” ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีเสน่ห์ น่าสนใจ และเป็นเมืองที่อยู่คู่ความอร่อย 24 ชั่วโมง จนเป็นตำนาน “เมืองแห่งคนช่างกิน” มีแหล่งท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์ เช่น เกาะกระดาน เกาะมุกด์ ถ้ำมรกต เป็นเมืองที่สงบมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย ผู้คนจิตใจดี และยิ้มแย้มแจ่มใส นี่คือเหตุผลที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดตรังจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือในการดำเนินงานในพื้นที่เอง ทั้งการจัดการสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย อาหารปลอดภัย และการป้องกันควบคุมโรค ตามกิจกรรม “เที่ยวตรังอุ่นใจ ปลอดภัยปลอดโรค” เพราะเป็นการช่วยเสริมให้การท่องเที่ยงตรัง ประสบความสำเร็จ ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ส่วนนายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวเสริมว่า นอกจากความสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรคแล้ว ประชาชนในพื้นที่ยังได้คิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์และกิจกรรมขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน เช่น ตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันควบคุมโรคระดับตำบล ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติตำบล/หมู่บ้าน จัดทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อเครือข่ายเฝ้าระวังในทุกระดับ สร้างคู่มือการเฝ้าระวังและควบคุมโรคเบื้องต้น แผนที่ควบคุมโรคติดต่อ กระเป๋าทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วระดับตำบล (SRRT) ชาวบ้านในพื้นที่สร้างอาชีพและรายได้ให้ตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญท้องถิ่นคิดค้นและแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตร เช่น สบู่สมุนไพรพิชิตยุงลาย น้ำหมักชีวภาพกำจัดยุง ไว้ขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จนทำให้พื้นที่ต้นแบบดังกล่าวได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลหมู่บ้านปลอดไข้เลือดออก 10 ปี (ปี 2558) และอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็งฯ ระดับเขต ปี 2555/2557 เป็นต้น